ว่าด้วยการอนุรักษ์
วันพรุ่งนี้จะเป็นวันครบรอบ 15 ปีแห่งการจากไปของคุณ
สืบ นาคะเสถียร ผู้จุดประกายการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างมีนัยสำคัญให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย ผมเลยอยากเขียนถึงเรื่องการอนุรักษ์ซักนิดนึง แต่เนื่องจากผมยังไม่มีประเด็นจะเขียนถึงเรื่องนี้เท่าไหร่ จึงขออนุญาตเขียนถึงเรื่องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแทนแล้วกัน
เอาเข้าจริงๆแล้ว เรื่องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมนั้นผมก็ไม่มีความรู้เป็นระบบอะไรมากนัก ความรู้ที่ดีที่สุดของผมก็ได้มาจากการฝึกงานสมัยเป็นนักเรียนสถาปัตยกรรมตอนปีสี่นั่นแหละ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะนึกถึงบทสนทนากับน้องไอซ์ (นามสมมติ) สมัยที่ยังอยู่เมืองไทยเมื่อราวสองปีก่อนขึ้นมาได้
น้องไอซ์เป็นนักศึกษาปริญญาโทด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโดยตรง ซึ่งแกมีความสนใจการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้เป็นพิเศษ โดยแกเล่าให้ผมฟังว่าวิธีคิดเรื่องการอนุรักษ์ของตะวันตกกับตะวันออก (อันที่จริงแกหมายถึงในญี่ปุ่น)นั้นแตกต่างกัน แกบอกว่าฝรั่งนั้นคำว่าอนุรักษ์ในความมุ่งหมายแรกหมายถึงการทำให้สถาปัตยกรรมนั้นคงสภาพแบบที่มันเป็นมาในอดีตให้มากที่สุด หรือที่เรียกว่า preservation หรือหากสถาปัตยกรรมนั้นเสื่อมสภาพก็มีแนวทางบูรณะหลายแบบตั้งแต่ซ่อมแซม ต่อเติมให้เหมือนของเดิม หรือถ้ามันพังทลายจนเกือบหมดสิ้นแล้วก็ได้แก่การสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดด้วยเทคนิควิธีการที่มีในปัจุบัน โดยอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเกณฑ์ ที่กล่าวมานี้นั้นส่วนมากเป็นกรณีของสถาปัตยกรรมที่ป็นโบราณสถานในลักษณะ Monumental ส่วนในกรณีของอาคารที่ยังคงมีการใช้งานอยู่นั้น สามารถทำได้โดยอาจเปลี่ยนการใช้งานให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ที่เรียกวิธีการนี้ว่า Addaptive re-use อย่างในกรณีที่เอาบ้านคุณพระสมัยก่อนมาปรับเป็นร้านอาหารหรือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโดยคงสภาพกายภาพภายนอกไว้คงเดิม
ส่วนในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบตะวันออกนั้น แกยกกรณีของในประเทศญี่ปุ่น ว่าในประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่มีอาคารเก่าแก่แบบที่สร้างมาแล้ว 400-500 ปีหรอก เพราะญี่ปุ่นนั้นเมื่ออาคาร (จำพวกบ้านเรือน ปราสาทราชวัง) เก่าหรือเสื่อมสภาพลงเขาก็จะรื้อมันทิ้งแล้วสร้างใหม่ทั้งหมด ดังนั้นสถาปัตยกรรมรูปแบบโบราณยังไงก็ดูใหม่เสมอ ผมเคยคุยเรื่องนี้กับ ฮิโระ (นามสมมติ) บัณฑิตจากรั้วโทได เพื่อนชาวญี่ปุ่นร่วม Institute ก็ให้การยืนยันตรงกับน้องไอซ์ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ฮิโระเสริมว่าคนญี่ปุ่นนั้นไม่ค่อยสนใจอดีตเท่าไหร่ (คือไม่ได้คิดว่าเราต้องกลับไปหาอดีตอันรุ่งโรจน์) แต่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็น norm ของสังคมอย่างมาก ผมเข้าใจเอาว่าถ้าคนส่วนมากสืบทอด norm จากรุ่นสู่รุ่นแล้ว จึงไม่น่าแปลกที่ญี่ปุ่นสามารถผสานความเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับจารีตไว้ได้อย่างเข้มแข็ง (ปล จริงๆ มันคงสะท้อนภาพการอนุรักษ์ได้แค่บางส่วนเพราะเป็นปากคำของชาวญี่ปุ่นเพียงคนเดียว แถมเป็นลูกหลานซามูไรอีกต่างหาก เลยให้แง่มุมที่จำกัดระดับหนึ่ง ซึ่งผมไม่มีทางเลือกอะไรมาก ก็ได้แต่เชื่อๆ ไปก่อน)
เรื่องนี้ออกจะทำให้ผมแปลกใจนิดหน่อย แต่ก่อนที่จะถามอะไรมากไปกว่านั้น น้องไอซ์ก็เสริมว่าที่ญี่ปุ่นทำเช่นนี้เพราะมีเหตุผลอย่างน้อยสองประการ คือ ประการแรกเนื่องจากวัสดุการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ ทำให้อายุการใช้งานไม่ยาวนานมากนักจึงไม่สามารถอนุรักษ์ตามแนวทางแบบฝรั่งอย่างได้ผลดี (ส่วนมากสถาปัตยกรรมตะวันตกจะทำจากหิน ที่มีความคงทนถาวรมากกกว่าไม้) แต่เหตุผลประการที่สองนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง คือเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ช่างฝีมือในการก่อสร้าง เพราะจะอนุรักษ์ช่างฝีมือไว้ได้นั้นก็ต้องให้เกิดการปฏิบัติจริงอย่างสม่ำเสมอ เขาถึงได้รื้อแล้วสร้างใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะนอกจากทำให้เกิดงานอาชีพแล้วยังสามารถรักษาเทคนิควิธีการก่อสร้างแบบโบราณไว้ได้อย่างดี หมายความว่าความหมายของการอนุรักษ์ของคนญี่ปุ่นนั้นกินความมากไปกว่าการักษาของเก่าที่ไม่มีอยู่จริงในชีวิตประจำวันจึงต้องรักษาไว้ แต่หากเป็นเรื่องปกติในชีวิตอยู่เอง หรือถ้าพูดแบบฮิโระก็คือ มันก็แค่ความพยายามรักษา norm เอาไว้เท่านั้นเอง
ผมกลับมานั่งคิดย้อนเรื่องการอนุรักษ์อาคารในประเทศไทย ก็พบว่าเรานั้นมีการอนุรักษ์แบบที่กรมศิลปากรทำ(ผมคิดว่าเป็นการอนุรักษ์ที่เป็นแนวคิดแบบตะวันตก) คือการอนุรักษโบราณสถาน เช่นพวกตำหนัก สถูป เจดีย์ อันที่จริงก็เป็นเรื่องไม่แปลกอะไรเพราะอาคารเหล่านี้ส่วนมากเป็นอิฐมอญและปูนปั้น แนวทางนี้ก็ยังสำคัญและมีคุณค่าอยู่ในตัวมันเอง ในขณะที่เมื่อมองไปอีกด้านเราก็พบว่าเรามีอาคารเรือนไม้มากมายแบบที่ญี่ปุ่นมีเช่นกัน แต่เมื่อสำรวจแล้วก็ใจหายเพราะจะพบว่าสกุลช่างไม้เราแทบจะสูญพันธ์ไปหมดแล้ว เนื่องจากเหตุผลหลายๆ อย่างทั้งด้านค่านิยม (ที่บ้านไม้ดูฐานะยากจนกว่าบ้านตึก) ตลอดจนถึงสถานการณ์ป่าไม้ในบ้านเรา ช่างฝีมือที่เคยปลูกเรือนให้คุณพระหรือเจ้าพระยาในอดีต เมื่อคุณพระย้ายมาอยู่ตึก แกก็ตกงานสิครับ เมื่อไม่ได้ทำงานความรู้ ความชำนาญก็ต้องล้มหายไป เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสกุลช่างที่รับใช้ศักดินานะครับ ในระดับชาวบ้านเช่นพวกเรือนเครื่องผูก ก็เห็นว่าบางตาไปมากเช่นกัน จนตอนนี้เราแทบจะต้องไปดูเรือนไทยในพิพิธภัณฑ์กันแล้ว (เหมือนอย่างที่สวนสัตว์ทำหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ที่ไม่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน) สารภาพว่าผมออกจะอิจฉาคนญี่ปุ่นที่ทำเรื่องการอนุรักษ์เป็นเรื่อง Everydayness ไม่ใช่เรื่อง Agenda อย่างที่หลายประเทศประสบปัญหา
การอนุรักษ์ (ในระดับชาวบ้าน) นั้นไม่น่าใช่การดองไข่เค็มแน่ๆ กล่าวคือไม่ใช่การทำให้มันคงสภาพแบบยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม หรือคงรูปเดิมให้มากที่สุด อย่าไปยุ่งกับมันเด็ดขาดอะไรทำนองนี้ แต่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมระดับชาวบ้าน (สถาปัตยกรรมแบบเจ้านายนั้นหลุดออกไปจากเงื่อนไขบริบททางสังคมไปนานแล้ว จึงต้องใช้แนวทางอนุรักษ์แบบที่กรมศิลปากรทำหรือเน้น) เหมือนกับที่วิธีอนุรักษ์ภาษาไทยที่ดีที่สุดคือการใช้มันบ่อยๆ ไม่ใช่การอัดเทปเก็บเอาไว้
ถึงแม้ว่ากรมศิลปากรจะไหวตัวแล้วกับวิกฤตอันนี้ เพราะที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์แต่โบราณสถานมาโดยตลอด แต่ก็ออกจะช้าไปสักหน่อยแล้ว อย่างไรก็ตามก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
กลไกตลาดนี่มันอานุภาพร้ายแรงจริงๆ พับผ่าสิ แถมไม่เคยไม่เคยสนใจเรื่องให้คุณค่า ตัวตน และอัตลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้นอีกด้วย
ได้แต่หวังว่าการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยนั้นจะไม่เป็นเหมือนการสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วต่อให้มีคุณสืบอีกกี่คนก็คงไม่พอแน่ๆ
ปล รูปบนคือ Porta Nigra สถาปัตยกรรมโรมันที่แผ่อำนาจเข้าไปในเยอรมัน ตั้งอยู่ที่เมือง Trier บ้านเกิดของ Karl Marx (เอาไว้โอกาสหน้าจะเขียนถึงเรื่องนี้นะครับ) ส่วนรูปข้างล่างคือเจดีย์วัดเจ็ดยอดที่เชียงใหม่ครับ
Everything goes
ในการสัมมนาโต๊ะกลมของ
Institute ผมเองครั้งที่ผ่านมานั้น เพื่อนชาวเยอรมันคนหนึ่งได้เสนอหัวข้อวิจัยว่าด้วยเรื่อง Landscape planning ในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยผสานแนวคิดเรื่อง "Everything goes" เข้ากับ Resource planning เพื่อหาจุดพอดีในการรังสรรค์สภาพแวดล้อมแบบที่ฝรั่งเรียกว่า win-win scenario ที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ใครที่ยังไม่ทราบว่า Everything goes คืออะไรเดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟัง
ในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น หากพูดถึงองค์ความรู้ด้าน planning แล้วอาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบของการศึกษาด้านนี้ และมีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จออกมาเรื่อยๆ หรือเรียกว่าเป็นกระบี่มือหนึ่งทั้งทั่วยุโรป รวมทั้งข้ามไปในสหรัฐอเมริกาด้วย เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล กอรปกับมีพื้นที่ประเทศไม่ใหญ่มากนัก ทำให้ประเทศนี้ต้องต่อสู้ทั้งกับเงื่อนไขทางธรรมชาติและทรัพยากรที่จำกัด โดยผมเพิ่งได้ทราบว่าประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นไม่มี Natural environment ที่เกิดเองตามธรรมชาติหลงเหลืออยู่อีกแล้ว (อันที่จริงในเยอรมันเองก็มีน้อยมากๆแล้ว) กล่าวคือ Landscape environment ทั้งหมดของประเทศนี้เป็น Man-made environment ทั้งสิ้น (ไม่มีพื้นที่ป่าโดยธรรมชาติ ป่าที่มีก็ปลูกขึ้นทั้งหมด อีกทั้งแนวคิดเกี่ยวกับป่าไม้นั้นถูกมองเป็นเรื่องทรัพยากรล้วนๆ หรือพูดอีกอย่างคือปลูกป่าเพื่อตัดไม้ขาย)เพราะด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดและปัญหาทางภูมิศาสตร์ ซึ่งถ้าไม่จัดการแล้วปล่อยให้อะไรต่อมิอะไรเกิดขึ้นตามยถากรรมแล้ว นั่นคงถึงขนาดต้องสิ้นชาติกันเลยทีเดียว
ทีนี้หนึ่งในกรณีศึกษาของเพื่อนผมนั้น เป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ถูกทิ้งร้างขนาดประมาณ 50 ตารางกิโลเมตรที่ตั้งอยู่ริมทะเล ที่เดิมรัฐบาลตั้งใจให้เกิดนิคมอุตสาหกรรม แต่ต้องพับโครงการไปเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศเมื่อราวสามสิบปีที่แล้ว ทีนี้พื้นที่นี้เนี่ยเมื่อผ่านไปประมาณสิบปี ได้มีนักพฤกษศาสตร์พบว่าพืชพันธ์และสัตว์ต่างๆ ที่เกิดในพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก จนต่อมาได้มีการทดลองปล่อยน้ำทะเลเข้ามาแล้วสูบออก สลับกันไป (แบบนิเวศวิทยาป่าชายเลน) ซึ่งผลการทดลองพบว่าทำให้มีระดับความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่สูงปรี้ด
ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาอยู่เองที่ของธรรมดาในวัฒนธรรมหนึ่งกลับเป็นของไม่ธรรมดาในอีกวัฒนธรรม อย่างที่การกินข้าวต้มโต้รุ่งนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาในบ้านเรา (ฝรั่งออกจะตกใจกับเรื่องนี้เล็กน้อย เพราะสองทุ่มก็ผีหลอกแล้ว) หรือการที่รถ Taxi ของที่นี่มี GPS (Geographic Positioning System) ติดรถแทบทุกคัน (ผมเห็นครั้งแรกก็ได้แต่อึ้ง) อย่างไรก็ดีเชื่อไหมว่าเรื่องนี้ถึงขนาดเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทาง planning ในเนเธอร์แลนด์ขนานใหญ่ เพราะคนรุ่นปัจจุบันของเนเธอร์แลนด์ไม่เคยมีใครมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ธรรมชาติสร้างมาจริงๆ เนื่องจากเพราะเนเธอร์แลนด์ผ่านประสบการณ์ที่สภาพแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องเข้าไปจัดการมาเป็นร้อยปีแล้ว คอนเซปท์ที่ธรรมชาติสร้างสภาพแวดล้อมด้วยตัวเองอย่างในกรณ๊ศึกษาของเพื่อนผมนั้น ฝรั่งเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า "Everything goes" หรือแปลเป็นไทยแบบชาวบ้านว่า "อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป" ซึ่งในกรณีนี้นั้นคนเนเธอร์แลนด์พบว่าทำได้ดีกว่าเขามานั่งจัดการเอง จนปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองที่ผู้คนชื่นชอบมาก เพราะมันคือธรรมชาติแท้ๆ
แต่พื้นที่นี้ก็อาจจะต้องหายไปเนื่องจากมันไม่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และถ้าวันหนึ่งโครงการนิคมอุตสาหกรรมพร้อมเมื่อไหร่ก็บอกลาได้เลย เพราะการทิ้งที่ดินไว้เปล่าในประเทศที่ที่ดินมีอยู่น้อยนิดนั้นเป็นเรื่องรับไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง งานวิจัยของเพื่อนผมก็คือความพยายามหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้พื้นที่อันนี้ให้มันรับใช้ชาวเมืองต่อไปได้ โดยไม่ให้เสียทรัพยากรที่ดินไปเปล่าๆ คิดไปคิดมาฝรั่งมันก็น่าสงสารเหมือนกันนะ
โลกเรานี่มันชักจะกลับตาลปัตรซะแล้วครับ เพราะของที่ได้มาฟรีๆ อย่างงี้กลับมีราคาแพงอย่างน่าใจหาย ถ้าอีตา David Richardo ผู้ให้กำเนิดทฤษฎี Land economy แกรู้ว่าทฤษฎีแกสร้างโลกทัศน์การมองธรรมชาติ (โลก)แบบแบนแต๊ดแต๋อย่างงี้ก็ไม่รู้แกจะแฮปปี้มั้ย
white plastic chair
เพื่อนชาวเยอรมันคนนหนึ่งเพิ่งให้ CD เพลงภาษาเยอรมันแก่ผมเป็นของที่ระลึกก่อนเดินทางกลับเมืองไทย เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงตอนเมื่อปีที่แล้วก่อนมาที่นี่ เพื่อนชาวไทย คือ เจและกอล์ฟ (นามสมมติ) ก็ได้ให้ CD เพลงผลงานของตัวเองแก่ผมมาคนละแผ่น (
Small room 004 กับ Super baker) ผมคงต้องสารภาพว่าไม่ค่อยได้หยิบมาฟังเท่าไหร่
เมื่อตอนอยู่เมืองไทย ผมมีวงเหล้าประจำ (ไม่ได้หมายความว่ากินประจำนะ แต่ส่วนมากจะมาลงวงนี้ทุกที) เป็นโต๊ะ เก้าอี้พลาสติกสีขาวอยู่หน้าออฟฟิศสมอลล์รูม เหตุที่เป็นที่นี่เพราะสาเหตุหนึ่งก็ด้วยความใกล้บ้านของสมาชิก และถ้ามาที่นี่อย่างไรคงหาเพื่อนนั่งกินเบียร์ได้ แต่ที่ผมชอบอย่างหนึ่งก็คือการมานั่งคุยกัน เสน่ห์อย่างหนึ่งของวงสนทนาหน้าสมอลล์รูมคือมีคนที่สนใจเรื่องไม่เหมือนกันมานั่งคุยกัน โดยแต่ละคนก็ชอบที่จะสนใจเรื่องคนอื่น ทำให้เกิดการต่อยอดความคิดออกไปได้บ้าง ถึงแม้ว่าจะเป็นแบบงูๆ ปลาๆ ก็ตาม เพราะด้วยเนื่องจากความรู้มากมายที่หาไม่ได้ในตำรา และความคิดดีๆ มักเกิดจากวงสนทนาแบบไม่เป็นทางการเสมอๆ โดยประเด็นที่คุยกันบ่อยๆ ประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องดนตรี ส่วนตัวผมเองนั้นไม่มีความรู้เรื่องดนตรีก็ได้อาศัยหาความรู้ตามวงผู้รู้ ซึ่งอย่างน้อยๆ เผื่อว่ารสนิยมการฟังดนตรีของผมจะดีขึ้นบ้าง
ผมจำได้ว่าเคยถามเจไว้ครั้งหนึ่งว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าดนตรี Bossanova เป็นยังไง เพราะผมแยกไม่ออก ความตั้งใจของผมคืออยากรู้ เกณฑ์หรือองค์ประกอบที่ดนตรีชนิดนั้นๆ ต้องมี เช่นในดนตรีอะคูสติกคงต้องมีเสียงกีตาร์โปร่ง เป็นต้น (ผมเดาเอานะ) เหมือนกับการแบ่งประเภทงานในศิลปะ เช่น Realism, Abstract, Expressionism ฯลฯ ที่ต้องมีคุณลักษณะพื้นฐานบางอย่างเพื่อบ่งบอกประเภทของงานแต่ละชนิด แต่ตอนนั้นเจไม่ได้ตอบผมตรงคำถาม เจบอกประมาณว่า “ไอ้ดนตรีอะไรมันไม่สำคัญหรอก มันสำคัญที่ (มึง) ชอบก็พอแล้ว”
ตัวอย่างการตอบไม่ตรงคำถามลักษณะนี้ บางครั้งสร้างประเด็นให้คิดต่อได้อีกมาก เช่นว่า อันที่จริงการแบ่งประเภทนั้นไม่จำเป็นมากนัก คือจำเป็นถ้าจะศึกษา เพราะหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะศึกษาอะไรก็ตามมักเริ่มจากการจัดหมวดเพื่อหากรอบคร่าวๆ ของเรื่องที่จะศึกษา แต่การจัดหมวดก็ทำให้วิธีคิดของเราติดกรอบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมเข้าใจเอาเองว่าคำตอบของเจนั้นก็ได้ให้วิธีการศึกษาดนตรีแบบไม่มองคนตรีเป้นวัตถุศึกษา กล่าวคือ มึงก็ฟังสิ เพราะสุดท้ายเป้าหมายผลลัพธ์มันก็คือชอบหรือไม่ชอบ ก็เท่านั้นเอง
บทสนทนาเล็กๆ เช่นนี้ก็ได้ประเด็นมาต่อยอดที่ผมเอามาใช้ในงานวิจัยได้อีกเป็นกระบุง ว่าด้วยระเบียบวิธีวิจัยแบบต่างๆ ด้วยเหตุนี้ผมถึงชอบไปกินเบียร์ที่หน้าสมอลล์รูม และหวังว่าสมาชิกยังคงแวะเวียนไปเรื่อยๆ พอที่จะทำให้ห้องเรียนแบบไม่เป็นทางการมีประโยชน์ต่อเพื่อนต่างวิชาชีพของผม ตราบเท่าที่แต่ละคนยังไม่มีเมียเสียก่อน เพราะถึงเวลานั้นก็คงต้องตัวใครตัวมันละกันนะครับ
ปารีส
ผมขอติดเรื่องการล่มสลายของ Social bond ไว้ก่อนนะครับ เพราะเป็นจริงดังน้องบุณฑริก (นามสมมติ) คาดไว้เพราะว่าการไปปารีสครั้งนี้เป็นเรื่องการล่มสลายของการตามหาหัวใจไปแล้วจริงๆ มาครั้งนี้ดีกว่าครั้งที่แล้วจมเลยครับ แล้วผมคิดว่าปารีสเป็นเมืองเดียวในขณะนี้ที่ต้องมาอีกเป็นครั้งที่สาม (แน่นอนว่าจะไม่มาคนเดียวแล้ว) เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังเป็นเรื่องๆ แล้วกัน
เมืองต้องห้ามสำหรับคนโสด อันที่จริงผมจั่วท้ายล่อตะเข้เอาไว้อย่างนั้นเอง เพราะรู้ดีว่าปารีสเป็นเมืองโรแมนติกที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นเมืองที่ผู้หญิงสวยที่สุดในยุโรป (จากสายตาคนไทยหลายๆ คนที่อยู่ที่นี่ รวมทั้งตัวผมเองด้วย) แต่ไม่ได้คิดไปตามหาหัวใจจริงจังอะไรหรอก แต่พอได้ไปเดินเที่ยวแล้ว กลับเครียดหนักกว่าเดิมเพราะพบว่าผมแทบจะเป็นคนเดียวที่มาเดี่ยวๆ ชาวบ้านเขามากันเป็นคู่ๆ ผมพบว่าตัวเองเกิดความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก คือยังไงดี เมืองมันก็สวยอ่ะแต่ไม่ควรมาคนเดียวเพราะมันจะกลายเป็นเรื่องสวยปนเศร้าไปซะ ยกตัวอย่างเช่น ผมไปที่หอไอเฟิลเพื่อไปดูแสงไฟที่เขาเปิดตอนกลางคืน แต่ดันเหลือบไปเห็นไปแอบดูหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศสจูบกัน (French kiss) แถมนานร่วมสิบนาทีปานกับมันจะกินกันทั้งตัว เห็นแล้วก็ เออ ตูกลับบ้านดีกว่า เซ็ง (อิจฉา) ชมัด
บรรยากาศตอนโพล้เพล้ ตอนกลางคืน ของหอไอเฟิล (ส่วนมุมขวาล่างคือพวกที่ทำ French kiss กัน)
สาวฝรั่งเศส
เมืองที่นักเรียนสถาปัตยกรรมต้องไป
ผมเองได้ยินหลายคนบอกมานานแล้วว่าถ้าเป็นสถาปนิกแล้วล่ะก็ อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตควรไปดูเมืองอย่างปารีสให้ได้ เพราะมีสถาปัตยกรรมน่าสนใจชนิดดูไม่หวาดไม่ไหวตั้งแต่ยุคเก่าโกธิค เช่น Sainte Chapelle หรือวิหาร Notredam แถมถ้าเป็นนักเรียนสถาปัตยกรรมจะไม่เสียค่าเข้าชมอีกต่างหาก หรืออาคารยุคบาโรค-รอคโกโก อย่างพราะราชวังแวร์ซายส์ หรือ Luxembourg จนถึงสถาปัตยกรรมยุคใหม่อย่าง Parc de la Villette ที่ออกแบบโดย Bernard Tschumi (คณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย), Institut du Monde Arabe ที่ออกแบบโดย Jean Nouvel, Pompidou center โดย Sir Richard Roger กับ Renzo Piano, หรือ หอสมุดฟรองซัวร์ มิสเตอรองส์ ออกแบบโดย Dominique Perault
Pompidou center
Parc de la Villette
หอสมุดฟรองซัวร์ มิสเตอรองส์
Sainte-Chapelle
นอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว การรอกแบบเมืองปารีสก็เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของนักเรียนผังเมืองมาตลอด แม้แต่ถนนราชดำเนิน พระบรมรูปทรงม้า หรืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยังต้องลอกแบบมา (เรื่องการวางแนวแกนเมืองทางกายภาพ) ได้แก่ Arch de Triump และ Champs-Elysees
Champs-Elysees กับทางเท้ากว้างสุดๆ
สวนแวร์ซายส์
สมัยที่ผมเป็นนักเรียนสถาปัตยกรรม อาจารย์ท่านหนึ่งแกแคยบอกไว้ตอนไปเที่ยวแวร์ซายส์ว่า สถาปัตยกรรมของพระราชวังแวร์ซายส์นั้นไม่มีอะไรน่าสนใจ ที่เด็ดจริงๆ คือสวนเพราะมีการอาศัยความรู้ด้าน perspective ในการออกแบบสวน ทำนองเดียวกับที่นำมาใช้หน้าวิหารเซนต์ปีเตอร์ บนเนื้อที่กล่าวสามร้อยเอเคอร์ อีกทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่สุดวิจิตรของพระราชวังแวร์ซายส์ พระราชวังฤดูร้อนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-16 เห็นแล้วไม่แปลกใจว่าทำไมถึงเกิดปฏิวิติฝรั่งเศสที่ต้องเอาพระเจ้าหลุยส์ 16 กับพระนางมารีอังตัวเน็ตมันตัดคอด้วยกิโยติน เพราะมันโอเวอร์สุดๆ
Moulin Rouge
ผมได้มีโอกาสไปดู Moulin Rouge การแสดง Cabaret Show ชื่อดังของโลก (การเต้น can can) ที่มีประวัติยาวนานมาร้อยกว่าปีแล้ว ด้วยค่าชมแพงระยับ (97 ยูโร) แต่ไหนๆ ก็มาแล้วเลยคิดว่าน่าจะลองไปดู
ที่จริงมันก็คล้ายๆ กับ Alcasar หรือ Tiffany show บ้านเราแหละครับ (ต่างกันตรงที่ Moulin Rouge นั้นนักแสดงจะเปลือยอก) แต่คนแสดงเป็นชายจริงหญิงแท้ ตอนแรกผมคิดว่าเหมือนในหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง Moulin Rouge แต่มันไม่ได้เป็นละครมีเรื่องมีราวแบบนั้น แต่เป็นการเต้นแบบสวยงามมากกว่า
จริงๆ แล้วมีอะไรจะเขียนถึงมากมายทีเดียวสำหรับการเที่ยวปารีสครั้งนี้ เช่นพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ที่เดินทั้งวันก็ยังไม่หมด แต่ขอผลัดเป็นคราวหน้าละกันนะครับ
ราคาของความเชื่อใจ
"ข้าวโพดเธอสุกวันนี้ ส่วนของฉันวันพรุ่งนี้ และเพื่อให้เราได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย วันนี้ฉันจะช่วยเธอเก็บซึ่งเธอก็ช่วยฉันทำแบบเดียวกันในวันพรุ่งนี้ ฉันจะไม่ทำให้เธอผิดหวังและฉันก็หวังว่าเธอจะไม่ทำให้ฉันผิดหวัง อย่างไรก็ตามแต่ฉันรู้ดีว่าไม่ควรหวังพึ่งคนอื่นมากนัก ฉันปล่อยให้เธอเก็บเกี่ยวคนเดียวและเธอก็ทำอย่างนั้นเช่นกันกับฉัน เมื่อฤดูกาลเปลี่ยน สุดท้ายเราทั้งสองสูญเสียผลผลิตของเราเพื่อแลกกลับสิ่งที่เรียกว่าความมั่นใจ"
....เดวิด ฮิวม์ ....
เดี๋ยวมาเขียนต่ออาทิตย์หน้านะครับ ว่าด้วยเรื่องการล่มสลายของ Social bond
ขอลาไปปารีสก่อนนะ (ตามหาหัวใจ)
Ichigo 100%
ผมหมดอาทิตย์นี้ไปกับการอ่านการ์ตูนรวดเดียวทั้งอาทิตย์ ที่เสียเวลาที่สุดคือเรื่อง Ichigo 100% ผลงานของ Mizuki Kawashita ผู้เขียน Lilim Kiss โดยหมดเวลาไปกับเรื่องนี้ถึง 4 วันด้วยกัน คิดเป็นความยาว 16 เล่ม (ยังไม่จบอีกต่างหาก)
ผมมีความรู้สึกว่าการ์ตูนเรื่องนี้เป็นการ์ตูนสำหรับผู้ชายโดยแท้ (แต่ผู้หญิงก็น่าจะชอบนะ) เพราะนอกจากจะมีฉากวับๆ แวมๆ แล้ว ยังขายฝันวัยหนุ่มเต็มๆ เพราะตัวเอกของเรื่องมีสาวๆ สวยๆ มาตกหลุมรักถึง 3-4 คนด้วยกัน เนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวความรักของนักเรียนมัธยมหนุ่มแสนจะธรรมดา (มานากะ จุนเป) ที่มีความใฝ่ฝันจะเป็นผู้กำกับหนัง โดยเหตุการณ์กินเวลายาวนานตั้งแต่ ม 3 ถึง ม 6 ของพระเอกในการเลือกว่าใครกันแน่ที่ตัวเองรัก ระหว่างตัวละครสาวเพื่อนร่วมขั้น หลักๆ สองคน (จริงๆ มีมากกว่านั้น) คนหนึ่งเป็นเด็ก nerd เรียนเก่ง (โทโจ อายะ คนผมดำ)ผู้ชอบเขียนนิยาย และพระเอกก็เป็นผู้ค้นพบอัจฉริยภาพอันนั้นของเธอ แต่เมื่อเธอถอดแว่นแล้วจะพบว่า เธอเป็นเด็กสาวที่น่ารักมากๆ คนหนึ่ง กับอีกคนหนึ่งคือ Top idol สุดน่ารักของโรงเรียน (นิชิโนะ ซึคาสะ คนผมสั้น) ที่เป็นที่ popular ที่สุด และเด็ดเดี่ยวในการเดินตามความฝันของตัวเอง
เรื่องสร้างปมขัดแย้งโดยให้ โทโจเป็นคนที่พระเอกประทับใจในตอนแรกโดยที่ตอนนั้นพระเอกไม่รู้ว่าเป็นโทโจ เพราะเธอถอดแว่น ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าผู้หญิงที่เห็นตอนนั้นคือ นิชิโนะ เลยกลายเป็นว่าสุดท้ายพระเอกไปสารภาพรักกับ นิชิโนะ โดยมีจุดเชื่อมตรงทั้งคู่ใส่กางเกงในลายสตรอเบอรี่เหมือนกัน (ตามชื่อเรื่องที่ Ichigo แปลว่าสตรอเบอรี่) theme ของเรื่องคือเรื่องราวการเลือกความรักระหว่างหนึ่งชายหลายหญิง โดยมีตัวเลือกหลักสองตัว คือหนึ่งเป็นคนที่ร่วมแบ่งปันความฝัน (โทโจ)โดยพระเอกมีความฝันที่ต้องการสร้างหนังโดยโทโจเป็นคนเขียนบท โดยร่วมหัวจมท้ายสร้างชมรมภาพยนตร์ขึ้นมาด้วยกันกับพระเอก แต่ไม่เคยบอกความรู้สึกของตัวเองต่อพระเอก ได้แต่แอบรักอยู่ในใจ กับอีกคนหนึ่งที่เดินนำทางชีวิตพระเอกเสมอ แต่ต่างฝ่ายแบ่งปันกำลังใจให้กัน หากต่างคนต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง (นิชิโนะ)
ถึงแม้ว่าจะตัดฉากวับๆ แวมๆ ออกไปโดยพล็อตเรื่องก็ยังน่าสนใจอยู่ดี ถึงแม้ว่ามันจะขาดความเป็น original ก็ตาม ผมชอบการ์ตูนเรื่องนี้มากๆ อยู่สองประเด็น หนึ่งคือวิธีการให้บุคคลิกของตัวละครที่ผมว่ามีมิติดี และถ้าผมเป็นมานากะคงเลือกได้อย่างยากเย็นเช่นกัน อย่าว่าแต่ให้เป็นนักเรียนมัธยมเลย ต่อให้เป็นตอนนี้คงคิดหนัก เมื่ออ่านแล้วต้องลุ้นเอาใจช่วยตัวละครอยู่เรื่อยๆ เรียกได้ว่ามีความผูกพันกับตัวละครทุกตัว โดยเฉพาะตัวประกอบที่มีรายละเอียดพอสมควรจนทำให้เรื่องดูไม่แบน ที่เด่นชัดคือมุมมองความรักของผู้หญิง-ผู้ชายที่อ่านแล้ว เออ ผู้หญิงเค้าคิดอย่างงี้ว่ะ ถึงแม้สองสาวจะมีบุคคลิกต่างกันแต่ก็ก็รู้สึกว่ามีอะไรคล้ายๆ กันแบบผู้หญิง และก็ไม่แปลกใจที่มานากะเลือกไม่ได้ซักทีในตลอดระยะเวลา 3 ปีครึ่ง จนกระทั้งคนอ่านก็ยังไม่รู้เลยว่าสุดท้ายจะลงเอยที่ใคร หรือไม่แน่อาจจะแห้วทั้งหมด
อีกประเด็นคือผู้เขียนสร้างฉากแห่งความทรงจำไว้มากมายในหลายเหตุการณ์ และตอกย้ำความทรงจำร่วมที่ทำให้ทั้งโทโจและนิชิโนะผูกพันกับมานากะ เพราะคนเรานั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อไปอยู่ในความทรงจำของผู้อื่น ผมมีความสุขมากเมื่ออ่านการ์ตูนเรื่องนี้จบ (เท่าที่มีในเน็ท แต่เรื่องยังไม่จบ) เพราะทำให้ผมเกิดอาการ Nostalgia คิดถึงตัวเองสมัยเรียนมัธยมซะยังงั้น พาลคิดไปว่าตอนนั้ตูทำอะไรบ้างวะเนี่ย
ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จัดว่าดีหรือไม่ เพราะผมเป็นผู้ชาย แต่ถึงแม้ว่าคนเขียนจะป็นผู้หญิง มุมมองการเขียนมันก็ดูๆ กดขี่เพศหญิงหน่อยๆ ไม่รู้ว่านี่อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ได้บรรจุเนื้อหาของวัยรุ่นไว้ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก ความฝัน ความอยากรู้อยากลอง ฯลฯ ผมว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีที่สุดของ Kawashita แต่ส่วนตัวผมว่าค่อนข้างโอเคเลยทีเดียว เพราะอย่างน้อยๆ มันก็ทำให้ผมตกหลุมรักนิชิโนะ ซึคาสะไปแล้วหมดใจ
ใบประกอบวิชาชีพ
สภาสถาปนิกได้ผลักดันให้รัฐสภาผ่าน พรบ สถาปนิกเป็นที่เรีบยร้อย โดยมีเนื้อหาหลักๆว่าด้วยเรื่องขอบเขตการออกแบบและควบคุมงานทางด้านสถาปัตยกรรม โดยแบ่งออกเป็น สาขาสถาปัตยกรรม ภูมิสภาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภายใน และการออกแบบเมือง โดยต่อไปนี้ผู้ที่จบการศึกษาด้านใดมานั้นจะสามารถออกแบบได้เพียงเฉพาะสาขาที่ตนเองจบมาไม่สามารถทำงานข้ามสาขาได้ เว้นแต่ได้สั่งสมประสบการณ์ในระดับหนึ่งจึงมีสิทธิสอบใบอนุญาตในสาขาอื่นๆ เพิ่ม
แนวคิดนี้ผมเข้าใจเอาเองว่าเกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาการแย่งงานกันเองในวิชาชีพสถาปัตยกรรม เพราะที่ผ่านมา มีสถาปนิกเข้าไปรับงานออกแบบตกแต่งภายใ น ออกแบบสวน ดังนั้นการออก พรบ ฉบับนี้ทำเพื่อจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ในวงการรออกแบบ หรือพูดอีกอย่างคือควบคุมอำนาจความรู้ให้ตรงแถว
วิธีคิดแบบนี้คาดหวังเอาว่านอกจากจะลด (หรืออาจเพิ่ม) ปัญหาการแย่งงานกันเองแล้ว ยังสามารถกันคนนอกวิชาชีพออกไปนอกวงได้อย่างดีอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น สาขาการออกแบบเมืองนั้นต่อไปนี้ไม่อาจทำได้โดยผู้ที่ไม่ได้จบการศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมการออกแบบเมืองในระดับบัณฑิตศึกษาอย่างกรณีของผู้จบเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ แล้วมาเรียนต่อสถาปัตยกรรมเมืองได้อีกแล้ว งานออกแบบผังกายภาพจะต้องมีผู้มีใบอนุญาตในการออกแบบเฉพาะ ซึ่งคนที่ไม่ได้เรียนสถาปัตยกรรมมาแต่แรกจะถูกกันออกไปตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร
เรื่องใบประกอบวิชาชีพนั้นจำเป็นแน่นอนครับ ส่วนที่ชัดเจนที่สุดก็เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย อย่างกรณีของใบประกอบโรคศิลป์ทางการแพทย์ หรือ การประกอบวิชาชีพทางวิศวกรรม แต่ในด้านการออกแบบนั้นผมก็เห็นว่าจำเป็นอยู่ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องการผูกขาดความรู้ทางสุนทรียศาสตร์ไว้กับคนกลุ่มหนึ่งด้วยเช่นกัน หมายความว่าใครเรียนมาไม่ตรงสายถือว่ามีความรู้ด้านนี้น้อยหรือไม่มีความรู้เลย ทั้งๆที่สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องระบบคุณค่า ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินแต่อย่างใด
ในขณะที่แนวโน้มสังคมความรู้ในระดับสากลนั้นมีแนวโน้มเป็นความรู้แบบสหวิทยาการข้ามสาขา แต่การที่มี พรบ ฉบับนี้กลับทำให้ความรู้กรอบอยู่เฉพาะกับผู้ที่ศึกษามาในแนวทางเดียวกันเท่านั้นเหมือนอย่างเช่นในอดีตของฝรั่ง เช่นพวก Blacksmiths, Goldsmiths ที่ยิ่งความรู้ถูกจำกัดไว้ในสมาคมตัวเองมากเท่าไหร่ก็มีอำนาจมากเท่านั้น แต่สุดท้ายความรู้เช่นนี้ก็จะหายไปหมด เพราะมันไม่แตกยอดออกไป บทเรียนอันนี้ฝรั่งรู้ดีครับว่าความรู้เรื่องหนึ่งจะพัฒนาต่อยอดได้ต้องอาศัยวิชาการด้านอื่นๆ เข้ามาผสมผสาน เช่นจะพัฒนาวงการช่างทองนั้นต้องมีความรู้เรื่องวัสดุ เครื่องมือ ศิลปกรรม ตลอดจนถึงการตลาด เพราะไม่มีความรู้การทำทองที่โดดๆ เป็นเอกเทศของตัวเอง
ความรู้ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ย่อมต้องหายไปอย่างแน่นอนในอนาคต แต่ความรู้ที่ถูกนำมาใช้โดยคนกลุ่มหนึ่งแบบสมบัติพลัดกันชมจะพัฒนาได้อย่างมากที่สุดก็เป็นได้แค่สกุลช่าง คือเป็นเพียงแค่เครื่องมือทำมาหากินเท่านั้น ถ้าสภาสถาปนิกในฐานะสถาบันวิชาชีพ อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมความรู้แล้วละก็ ควรเปิดโอกาสให้คนนอกวงวิชาชีพ (ที่มีความรู้ทางสถาปัตยกรรมในระดับอื่นๆ นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ โดยเฉพาะในระดับ ป ตรี) เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะความรู้เรื่องสุนทรียของสังคมไทยควรต้องมาจากทุกฝ่ายในสังคม
ไม่อย่างนั้น คงเหมือนอย่างที่
อ. เซ้ง (นามสมมติ) ว่าไว้ว่า "ต่อไปเราคงต้องมีใบประกอบวิชาชีพทำนาแล้วล่ะ"
universal space (เที่ยวสเปนตอนจบ)
เย็นวันแรกของการท่องเที่ยวสเปนของผมเมื่อราวครึ่งปีที่แล้วจบลงที่การเที่ยวชมอาคารหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง ผมจำได้ดีเพราะผมนั่งดูอาคารหลังนั้นเปลี่ยนสีตั้งแต่เย็นๆ ไปจนพลบค่ำ มันเป็นอาคารรูปร่างคล้ายๆ กล่องกระจกหลังหนึ่ง โดยที่สำหรับคนทั่วไปที่เดินผ่านไปผ่านมาบริเวณนั้นอาจไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวเองก็ตาม แต่สำหรับนักเรียนสถาปัตยกรรมทั่วโลกนั้นรู้ดีว่าอาคารหลังนี้ได้ทิ้งมรดกที่เป็นไวยกรณ์ทางสถาปัตกรรมที่ยังคงมีอิทธิพลต่อการออกแบบในยุคปัจจุบัน แน่นอนอาคารหลังนี้ มันก็คือ "Barcelona Pavilion"
Mies van de Rohe อออกแบบอาคารขนาดราว 100 ตรม หลังนี้ เมื่อครั้งงาน Expo เพื่อแสดงความห้าวหน้าทางสถาปัตยกรรมของโลกในปี 1925 สำหรับผมแล้ว Barcelona Pavilion เป็นหนึ่งใน Master piece ของ Mies van de Rohe (อีกชิ้นก็คือ Farnsworth house) เนื่องจากว่าอาคารหลังนี้ไม่ได้มีประโยชน์ใช้สอยอะไรมากทำให้มันสามารถขับเอาไวยกรณ์ทางสถาปัตยกรรมของ Mies van de Rohe ออกมาได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น "Less is More" (แนวความคิดที่ว่าองค์ประกอบของอาคารควรมีแต่ส่วนที่จำเป็นเท่านั้น หรือแปลง่ายๆ ว่าทำน้อยได้มาก) , "God is in detail" (แนวความคิดว่าอาคารที่ดีควรมีรายละเอียดทางการก่อสร้างที่ดี) แต่ที่ชัดเจนที่สุดนั้คือ "Universal space"
ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นห้องเมื่อเข้าไปอาคาร ความไม่ชัดเจนว่า "ข้างนอก หรือ ข้างใน" น่าจะเป็นความรู้สึกชัดเจนที่สุดเมื่อผมมีประสบการณ์กับอาคารหลังเล็กหลังนี้ ผนังระหว่างอาคารที่ไม่ชนกับเพดาน ไม่มีมุมของอาคารที่เกิดจากผนังสองแนวมาชนกัน มีเพียงผนังระนาบเดีวที่กั้นเพื่อแยกส่วนใช้สอยของอาคารเท่านั้น หลังคาและเสาที่บางเฉียบ แสดงให้เห็นว่าได้รีดเอาคุณสมบัติที่มีอยู่ในวัสดุตามศักยภาพของมันออกมาเป็นลักษณะภายนอกทางสถาปัตยกรรม ตลอดถึงขนาดของหน้าต่าง แผ่นพื้นที่มีสัดส่วนต่อกัน
Barcelona Pavillion หลังนี้จะถูกสร้างใหม่ภายหลัง ในปี 1930 หลังจากที่ถูกรื้อทิ้งเมื่อเสร็จงานแล้วซึ่งว่ากันว่า หลัง original ของที่ Mies van de Rohe สร้างนั้นมีความสมบูรณ์กว่าหลังนี้ เพราะเลือกพินอ่อนสีเขียวสำหรับผนังเองกับมือทุกก้อน อีกทั้งกำหนดเลยว่าแต่ละก้อนอยู่ตรงไหน
แต่แค่นี้ก็กลับไปนอนหลับฝันดีแล้วครับ
การทบทวนวรรณกรรมที่ไร้ความหมาย
ผมเพิ่งมาสำนึกว่าหนึ่งในการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างหนึ่งของผมคือการตัดสินใจเดินทางมาที่นี่ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าทำไม
เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมต้องพรีเซนท์งานวิจัยทั้งหมดที่ผมทำระหว่างอยู่ที่นี่ ให้กับเพื่อนร่วม Institute และ Professor ก่อนกลับเมืองไทยเพื่อไปทำข้อมูลภาคสนามต่อ ในรอบปีนี้เรียกได้ว่าผมอ่านหนังสือวิชาการมากที่สุดในชีวิต เพราะเฉพาะรายชื่อหนังสือที่ผมใช้อ้างอิงทำบรรณานุกรมมันก็ปาเข้าไปตั้งสิบกว่าหน้าหรือเรียกว่าทั้งหนังสือและบทความในวารสารวิชาการก็ 200กว่าเล่มแล้ว ทำให้ก่อนพรีเซนท์ผมมั่นใจพอสมควรว่าผมทำการบ้านครอบคลุมเนื้อหางานวิจัยในระดับหนึ่ง
งานวิจัยผมเป็นเรื่องการจัดการขยะและน้ำเสียในชุมชน ซึ่งแนวทางนั้นมีทั้งทฤษฎีที่ใช้ชุมชนเป็นฐานและจัดการกันเอง หรือเรียกว่า Self-governance (ในทำนองเดียวกันกับที่ชุมชนจัดการทรัพยากรท้องถิ่นด้วยตัวเอง อย่างกรณีของป่าชุมชน)จนกระทั่งถึงวิธีการที่จัดการโดยรัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูประบบราชการท้องถิ่น (New Public Management) ความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชน (Co-governance) จนถึงการแปรรูปบริการภาครัฐ (Privatization) โดยที่ผมก็ยังไม่รู้ว่าวิธีไหนจะเหมาะสมที่สุด และคิดว่าเดี๋ยวคงพอจะชัดเจนขึ้นหลังการเก็บข้อมูลภาคสนาม
แต่แล้ว Professor ก็โยนวิธีวิจัยที่ผมเองเคยนึกไว้อยู่แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าต้องทำหรือเปล่าเพราะมันแพง นั่นคือการทำ pilot project โดยแกบอกว่าน่าจะทำเรื่องขยะก่อน แกบอกผมว่าปัญหาคือไม่ต้องมาบอกว่าโลกนี้เค้ามีแนวทางอะไรบ้างในการจัดการเรื่องนี้ แต่โดยเงี่อนไขพื้นที่เรา (มึง) ทำอะไรได้บ้าง คือวันนั้นมาเป็นชุดมาก ผมได้แต่นั่งมึน ไม่ได้โต้ตอบอะไรมากในใจก็นึกว่าขัดแย้งกับแกว่า เอ มันยังไม่รู้เลยว่าชุมชนมีความสามารถจัดการได้หรือเปล่า มันอาจจะไม่เวิร์คแล้วต้องแปรรูปก็ได้ ทำไมแกถึงฟันธงให้ทำ pilot project แล้วถ้ามันล้มเหลวไม่เสียเงินเปล่าเหรอ ในใจตอนนั้นผมคิดว่ามันไม่น่าฟันธงลงไปเลย แต่ควรหาทางเลือกให้มากที่สุดมากกว่า ผมถึงก้มหน้าก้มตาค้นคว้าหาว่าอะไรเหมาะในเงื่อนไขอะไรบ้าง
กลับมาบ้านผมมานั่งคิดอยู่สามวันถึงเข้าใจว่า ต่อให้ผมอ่านทฤษฎีหรือวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมากแค่ไหน หรือไปเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าอะไรดีกว่ากันมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่ เพราะมันไม่รู้มีทางว่าอะไรดีกว่าอยู่แล้ว แทนที่จะมานั่งวิเคราะห์ว่าอะไรดีกว่า เพราะสุดท้ายมันก็เป็นทางเลือกที่"เลือกไม่ได้จริงๆ" หมายความว่ามันลอยๆ ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น ประเด็นมันจึงอยู่ที่อะไรทำได้หรือมีแนวโน้มว่าทำได้มากกว่า แกถึงโยน pilot project มากลางวง แล้วงานวิจัยผมก็กลายเป็น Action research ในบัดดล ตามชื่อ Institute ว่า Empirical research in planning issues ที่โคตรจะเป็นวิทยาศาสตร์ คือเมิงต้องใส่ Input เข้าไปนะถึงจะได้ Output ออกมา ไอ้ที่เมิงวิเคราะห์เนี่ยมันใช้แต่ Rational ทั้งนั้น
หรือแปลเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆว่า ถ้างานวิจัยผมคือการทำอาหารจานหนึ่งแล้วละก็ ผมกำลังเลือกอยู่ว่าจะทำก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวผัดดีถึงจะได้คุณค่าทางโภชนาการสูงสุด แล้วอยู่ๆ professor ก็มาสะกิดบอกว่า" เมิงมีวัตถุดิบอะไรบ้างเมิงก็ทำอันนั้นแหละ ถ้าข้าวผัดดีกว่าแล้วยังไง ถ้าเมิงไม่มีข้าวสาร อย่างนี้ไม่ต้องไปปลูกข้าวก่อนหรือไงวะ"
คิดได้เช่นนี้ ผมก็ตบเข่าตัวเองฉาดนึง "แล้วนี่ตูมานั่งทำเบื้อกอะไรที่นี่อยู่ตั้งเป็นปีๆฟะ"
หน้าร้อน
ขณะนี้ที่นี่เป็นหน้าร้อนและกำลังจะผ่านไปในอีกไม่กี่อาทิตย์ เมื่อมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ ผมก็มาตอนหน้าร้อนนี่แหละ ซึ่งก็คือตอนนี้ก็เป็นหน้าร้อนที่สองของผมในต่างแดน
ฝรั่งนี่ชอบหน้าร้อนมาก เห็นแดดไม่ได้ต้องออกมาเดินให้โดนแดด ผมเคยใส่หมวกออกไปตอนแดดเปรี้ยงๆ ฝรั่งหันมามองว่าไอ้นี่มันบ้าหรือโง่กันแน่ เสือกใส่หมวก สาเหตุอีกอย่างที่ฝรั่งชอบหน้าร้อนเพราะว่าเวลากลางวันมันจะมีมากกว่ากลางคืน เพราะกว่าจะมืดก็ปาเข้าไปสี่ทุ่มแล้ว เรียกว่าเที่ยวได้ยาวนาน ดังนั้นหน้าร้อนจึงเป็นฤดูท่องเที่ยวที่อะไรก็แพงไปหมดในยุโรป ยกเว้นตั๋วเครื่องบินกลับเมืองไทย
เมื่อสองเดือนก่อนตอนเข้าสู่หน้าร้อนใหม่ๆ ผมได้มีโอกาสไปปิ้งย่างบาร์บีคิวริมทะเลสาปในเมืองกับคนไทยที่อยู่ที่นี่ หนึ่งในความรู้ใหม่ของผมเกี่ยวกับหน้าร้อนของฝรั่งคือ "FKK"
FKK (เอฟคาคา) ย่อมาจาก Freikörperkultur (Free body culture) ซึ่งหากใครพอจะคุ้นเคยกับการ์ตูนขายหัวเราะซักนิด แล้วพอจะนึกถึงคุณวัฒนาที่ชอบขียนผู้หญิงสาวๆไม่ใส่เสื้อผ้าซักชิ้น แต่ใส่หมวกกับแว่นกันแดด นอนอยู่บนเตียงผ้าใบ นั่นแหละครับคือ FKK หรือเรียกได้ว่าคือพื้นที่แก้ผ้าอาบแดด อ่านหนังสือ นั่นเอง
โดยพื้นที่แห่งนี้เกิดขึ้นมาจากกลุ่ม Naturalist คือคนที่มีความสุขแบบแนบชิดธรรมชาติ ให้สายลมแสงแดดสัมผัสร่างกายโดยตรง (เค้าว่ากันอย่างนี้นะ) ขนาดมีสมาคมกันเลย แถมเป็นแบบครอบครัวก็มี คือลูกเด็กเล็กแดงก็แก้ผ้ากันหมด
ที่ผมใช้คำว่าพื้นที่เพราะมันไม่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่เช่นนั้นผมคงต้องใช้คำว่าสถานที่ แต่ FKK คือบริเวณอาบแดด ผมไม่มีประสบการณ์กับ FKK ที่เมืองอื่น แต่ของเมืองผมนี่มันอล่างฉ่างในสวนสาธารณะเลยโดยที่อาศัยสุมทุมพุ่มไม้บังๆ เอา (ในรูปประกอบ แต่อยู่ฝั่งตรงข้ามนะ) ไม่ได้ซีเรียสว่าหรือกลัวว่าใครจะเห็นอะไรมาก แต่ก็ให้ได้ลุ้นพอเห็นรำไร อย่างไรก็ตาม FKK นั้นมีอาณาบริเวณที่กำหนดโดยปักป้ายว่า FKK ซึ่งหมายถึงบริเวณนี้เป็นพื้นที่อาบแดดนะ อย่าทะเร่อทะร่าเข้ามา
แต่ถ้าเราอยากเข้าไปใน FKK ที่ผู้คนเดินเอานมชี้หน้ากันนั้นย่อมทำได้แน่นอนครับ เพียงแต่เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม คือเราต้องถอดเสื้อผ้าเข้าไปด้วย จะมาดูอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องแลกกันดู (อันนี่ผมคิดตามบริบทวัฒนธรรมเพราะผมเป็นคนไทย แต่ฝรั่งเขาไม่คิดจะมาดูอะไรกันหรอก เพราะการแก้ผ้านั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา ในโทรทัศน์ผมก็เห็นมันแก้กันเรื่อย) ถ้าใครไม่อยากแลกกันดูก็ใช้วิธีขี่จักรยานเข้าไป เพราะมันมีทางจักรยานผ่าน เหมือนเราขี่จักรยานผ่านมาทางนี้เอง แต่ก็อย่าดูมาก เพราะจะถูกมองว่าไม่มีมารยาท
อย่างไรก็ดีการแก้ผ้าในที่สาธารณะที่นี่นั้นก็ถือว่าผิดกฎหมายนะครับ เหมือนอย่างบ้านเรา แต่ถ้าอยู่ใน FKK ก็ไม่เป็นไร และก็ มีเรื่องตลกเกี่ยวกับ FKK ที่ผมได้ฟังจากคนอื่นมาอีกทีก็คือว่า มีคุณลุงที่แกเป็นพวกนิยม FKK แต่แกเผลอเดินออกมานอกบริเวณ จนตำรวจเดินมาเตือนแกว่าอนาจาร แกก็ทำหน้าเหรอหราแล้วคว้าถุงเท้ามาสวมช้างน้อยแก โดยหันมาพูดกับคุณตำรวจว่า "แค่นี้ก็ไม่อนาจารแล้ว"
ผมเพียงแค่มาเล่าให้ฟังว่า ไอ้ที่ผมไปบาร์บีคิวกันเมื่อสองเดือนก่อนน่ะ มันอยู่ตรงข้าม FKK แค่นั้นแหละครับ แล้วหน้าร้อนดีๆก็กำลังจะผ่านไปอีกครั้ง
Legacy of the crusade (เที่ยวสเปนตอน 2)
สเปนนั้นไม่ได้เป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยคนเผ่าพันธุ์เดียว ซึ่งก็เหมือนกับประเทศไทยที่ผสมไปด้วยคนหลายเผ่าพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น แขก ไทย มุสลิม จีน ลาว ญวน มอญ หรือแม่แต่ชาวเขาเผ่าต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกันขึ้นเป็นชนชาติไทย และก็เหมือนกันกับประเทศไทยในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สเปนในขณะนี้ก็ยังประสบปัญหาการแยกดินแดนที่คุกรุ่นจากกลุ่มชาติพันธุ์ตอนเหนือของประเทศ แต่ไม่ได้ลุกลามเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างบ้านเรา แต่ก็เรียกได้ว่ามีเชื้ออยู่
อันที่จริงความขัดแย้งเช่นนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ดังในเมือง Cordoba เมืองสำคัญเมืองหนึ่งทางตอนใต้ของสเปน อย่างที่เราทราบกัน หรือบางคนอาจไม่ทราบว่าทางตอนใต้ของสเปนนั้นมีชายแดนติดต่อกับทวีปแอฟริกา ได้แก่ ประเทศโมร็อคโค ดังนั้นเมือง Cordoba ในอดีตนั้น คนพื้นเมืองที่นี่ไม่ได้เป็นชาวคาทอลิกที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศในปัจจุบัน แต่หากเป็นชาวมุสลิม และอารยธรรมของโลกมุสลิมก็ลงหลักปักฐานในดินแดนตอนใต้มาเนิ่นนานอยู่ก่อนแล้ว จนกระทั่งสิ้นสุดลงในราวคริสตศตวรรษที่ 12-13 เมื่อกองทัพฝ่ายศาสนจักรโรมันคาทอลิกได้ขยายอาณาจักรจนเกิดเป็นสงครามศาสนา (Crusade) จนกระทั่งฝ่ายโรมันคาทอลิกมีชัยเหนือโลกมุสลิมอย่างราบคาบ
แต่ที่ดินแดน แห่งนี้ที่มี Mosque หรือสุเหร่าของชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งสะท้อนความมีอารยธรรมทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว จนถึงขนาดฝ่ายศาสนจักรโรมันคาทอลิกยังต้องทึ่งถึงความงดงามของสุเหร่าแห่งนี้ จนไม่อาจตัดใจทำลายทิ้งลงได้ (ปกติแล้วอาคารทางศาสนาต้องเป็นสิ่งที่ถูกทำลายทิ้งไม่ให้เหลือทราก) จึงได้คงงสภาพสถาปัตยกรรมแบบมุสลิมไว้ทั้งหมด เพียงแต่ทำลายส่วนที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทิ้งเท่านั้น และได้สร้าง โบสถ์แบบคาทอลิกลงตรงใจกลางสุเหร่าเดิมแทน
ผังสุ่เหร่า รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสแห่งนี้ ประกอบด้วยพื้นสามส่วน โดยมีกำแพงล้อมรอบ ภายในประกอบด้วย Courtyard ขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันเป็นสวนส้ม (ส้มเป็นต้นไม้ที่ปลูกทั้งเมือง Cordoba แบบเดียวกับที่อีสานบ้านเราปลูกต้นคูน) ส่วนที่สองคือ Aisle หรือพื้นที่ทางเดินรอบตัวส่วนที่ประกอบพิธีกรรม (Nave) ที่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมมุสลิมแบบโมร็อคโคอย่างสมบูรณ์ ประกอบด้วย โค้งแบบ Arch ที่ทำจากหินสกัด พร้อมลายสลับสี แดงขาว สองชั้นตลอดแนว ส่วนที่สามคือ Nave และ Altar หรือส่วนประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ที่เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองค์ ที่ดูแปลกตาไปอย่างสิ้นเชิง
ด้วยเหตุนี้ Mosque ที่เมือง Cordoba คงเป็นโบสถ์คาทอลิกแห่งเดียวของโลกที่เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์มุสลิม เป็นอนุสาวรีย์ทางประวัติศาสตร์บอกเล่าอดีตของดินแดนแห่งนี้แก่ผู้มาเยือน อย่างกึกก้องโดยไร้ซุ่มเสียงใดๆ
Gaudi (เที่ยวสเปนตอน 1)
พอดีเขียนเกี่ยวกับมรดกโลกเลยนึกขึ้นได้ว่า ในปี 2005 นี้ UNESCO ก็ได้ประกาศให้ ผลงานอีกสี่ชิ้นของ Antoni Gaudi สถาปนิกชาวคาตาโลเนีย (เมืองบาร์เซโลน่าในปัจจุบัน) ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วเหมือนกัน อันได้แก่ Casa Vincens, Sagrada Familia Cathedral, Casa Batllo และ Crypt in Colonia Güell จนถึงวันนี้นับได้ว่า Gaudi มีผลงานที่เป็นมรดกโลกรวมแล้วเจ็ดชิ้นด้วยกันแล้ว
Gaudi เป็นสถาปนิกที่ผมเองตอนเรียนอยู่รู้จักแค่ว่า งานของพี่แกจะเป็น ลวดลายกระเบื้องเคลือบพร้อยๆ พร้อมกับดีไซน์หลุดโลก (คิดไปถึงว่าหมอนี่ต้องเป็นเกย์แน่ๆ) และก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก ไปกว่าพลิกๆ ดูในหนังสือภาพ ด้วยเห็นว่าดูมากไปก็เอามาใช้อะไรกับงานเรียนของตัวเองไม่ได้ เพราะมันเป็นอัจฉริยภาพส่วนบุคคลที่ผมไม่สามารถนำไปพัฒนาต่อได้ (หรือแปลว่าว่าเลียนแบบไม่ได้นั่นเอง)
แล้วก็ตัวผมเองได้มีโอกาสไปเที่ยวบาร์เซโลน่า และนอกจากงานของ Gaudi แล้วยังมีงานของศิลปินคนอื่นๆ ที่ร่วมสมัยนั้นอีก เช่น Salvador Dali และ Juan Miro แล้วก็รู้สึกว่างานศิลปะของสเปนนี่มันมีกลิ่นคล้ายๆ กันเหมือนกัน งานของ Gaudi ที่ผมได้เห็นกับตาตัวเองมีด้วยกัน 4 ชิ้นจากทั้งหมด 7 ชิ้นทีเป็นมรดกโลก คงได้แต่บอกกับตัวเองว่า "เออ มึงแน่จริงๆว่ะ" เพราะงานของ Gaudi มันต้องการทั้ง Intellectual และ Skill (ในเชิงช่าง) ในระดับสูงมาก โดยผมจะเล่าให้ฟังแค่สองชิ้นนะครับ คือที่ Sagrada Familia Cathedral และที่ Parque Güell
Sagadra Familia เป็นโบสถ์ที่สร้างมาร้อยกว่าปีแล้ว จนทุกวันนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะงานออกแบบของ Gaudi มีรายละเอียดมากและใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูง ส่วนตัว Gaudi เองนั้นเป็นคาทอลิก ซึ่งหนึ่งในความศรัทธาสูงสุดคือการสร้างโบสถ์ เพราะเป็น contribution หนึ่งที่มนุษย์จะแสดงศรัทธาต่อพระเจ้าได้ ในทำนองเดียวกันกับที่ Michelangelo สร้างโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ Gaudi ใช้เงินส่วนตัวทั้งหมดที่ได้จากการประกอบอาชีพสถาปนิก ตลอดจนถึงรับบริจาคจากผู้ศรัทธาสร้างโบสถ์หลังนี้
ผมว่างานชิ้นนี้เป็น Master piece ของ Gaudi เลยก็ว่าได้ และก็ได้สร้างความเข้าใจงานออกแบบของ Gaudi ให้กับตัวเองมากขึ้น (เยอะ) หนึ่งในความน่าสนใจของงานชิ้นนี้คือ ความเข้าใจทางวิศวกรรมอย่างดีนอกเหนือไปจากความเป็นศิลปินที่มีอยู่สูงในตัว Gaudi
Gaudi ออกแบบงานชิ้นนี้โดยอาศัยจินตนาการจากธรรมชาติ แต่ที่น่าทึ่งคือรูปนี้ครับ
รูปนี้คือ outline ของรูปทรงโบสถ์หลังนี้ที่ Gaudi ใช้ถุงทรายผูกเชือกแล้วปล่อยให้แรงโน้มถ่วงสร้างรูปทรงขึ้นมาเอง คนที่มีความรู้ทางวิศวกรรมซักนิดจะรู้ว่า รูปทรงโบสถ์ที่กลับหัวอยู่นี้แล้ว member ของโครงสร้าง (ซึ่งก็คือเชือก) ที่รับแรง Tensile อยู่นี้ เมื่อกลับหัวให้เป็นปกติแล้ว ทั้งหมดจะเปลี่ยนเป็นแรง Compression หมายความว่า แทน member ของเส้นเชือกด้วยโครงสร้างคอนกรีต ก็เป็นอันเสร็จเลย เหลือแต่เติมรายละเอียดแบบศิลปะคาตาโลเนียเท่านั้น ส่วนมากเป็นเรื่องราวธรรมชาติ เช่นเสาก็ให้จินตนาการถึงต้นไม้ (หลักๆ แล้วความคิดสร้างสรรค์ของ Gaudi เป็น Metaphoric นะครับ)อีกทั้งทั้งมีงานแกะสลักแบบนูนสูงนูนต่ำอยู่รายรอบ (แถมเป็นแบบ Cubism ซะด้วย)
มันช่างเป็นเรื่องธรรมชาติทั้ง imagination และ logic พร้อมๆกันเลย
"Form follow Nature!!!!"
โคตรโมเดิร์นเลยว่ะพี่!!!ชอบมั่กๆ
รูปนี้ถ่ายจากภายในครับ เข้าไปแล้วเหมือนอยู่ในป่า
อันนี้ลวดลายภายนอก
สวยไม่สวยดูเอาเองนะครับ (น่าไปตั้งที่แหลมคานาวารัลเนอะ ยาน Discovery คงอาย)
ปล ตอนนี้อาศัยเงินค่าเข้ามาสร้างต่อ
อีกชิ้นคืองานออกแบบสวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางเมืองบาร์เซโลน่า หรือ Parque Güell อันนี้เข้าฟรีครับ ตัวสถาปัตยกรรมนั้นไม่มีอะไรมากครับ ที่น่าสนใจคือ ลวดลายกระเบื้องเคลือบที่จัดจ้านและปราณีต อีกทั้งยังแม่นเรขาคณิตด้วย (ตอนแรกผมคิดว่างานแกเป็น Free form เฉยๆแต่จริงๆแล้วมีพื้นฐานเรขาคณิตในลวดลายที่ดีมาก) ที่มันโดดเด่นในสมัยนั้นเพราะGaudi เป็นต้นคิดเรื่องการเอาเศษกระเบื้องที่สมัยนั้นไม่มีใครสนใจเพราะมันไม่เต็มแผ่น มาสร้างเป็นศิลปะที่ปัจจุบันก็ยังมีอิทธิผลต่องานออกแบบ โดยเฉพาะในงานออกแบบสไตล์เมดิเตอเรเนียน
สามรูปนี้ที่ Parque Güell นะครับ
แล้วค่อยพบกับเที่ยวสเปนตอน 2