Sunday, September 25, 2005

To Marx

All I know is I'm not a Marxist.
....Karl Marx....

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้มีโอกาสสนทนากับเพื่อนร่วมหอพักชาวโปแลนด์อยู่ 2-3 ครั้ง โดยประเด็นหนึ่งขอการสนทนาคือเรื่องการปกครอง อย่างที่เราทราบว่าปัจจุบันนี้โปแลนด์ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบคอมมิวนิสต์มาเป็นประชาธิปไตยร่วม 15 ปีมาแล้ว แต่เพื่อนผมคนนี้เป็นคนหนึ่งที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นกับประเทศของตัวเอง

เธอเล่าว่า เมื่อก่อนนั้นทุกคนมีเงินให้จับจ่ายใช้สอยเนื่องจากไม่มีคนตกงาน และทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็น หมอในโรงพยาบาล ครู เกษตรกร เนื่องจากทุกคนมีงานทำในฐานะที่เป็นลูกจ้างของรัฐ เพราะรัฐเป็นเจ้าของทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ตลาด โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา ขนส่งมวลชน ฯลฯ แต่ปัญหาคือไม่มีอะไรให้เธอซื้อมาก เพราะทุกอย่างถูกผลิตออกมาเหมือนๆ กันหมด กระเป๋าแบบเดียวกัน รองเท้าก็ด้วย เนื่องจากคอมมิวนิสต์ไม่มีการแข่งขันจึงไม่มีเหตุผลอะไรให้รัฐทำของออกมาให้หลากหลายมากๆ ให้สิ้นเปลืองเพราะยังไงก็ขายได้อยู่ดี

แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเท่ากันเป๊ะๆ ทุกคนนะครับ การเข้าถึงสินค้าเหล่านี้มีความเหลื่อมล้ำนิดหน่อย คือ คนที่เป็นกรรมกรในเหมืองและเกษตรกร รวมถึงทหารจะมีสิทธิในการซื้อสินค้าก่อน หรืออาจได้สิทธิในการซื้อเนื้อสัตว์มากกว่าคนอื่นๆ ตามหลักปรัชญาของคอมมิวนิสต์ที่ให้ความสำคัญต่อชนชั้นการผลิต (แรงงานนั่นเอง) สมสัญลักษณ์ "ค้อนเคียว" ที่ปลิวไสวบนธงสหภาพโซเวียตเมื่อในอดีต แต่ข้อเสียของคอมมิวนิสต์อย่างที่เรารู้ๆ ก็คือ มันไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน หมายความว่าคนทำมากทำน้อย ก็ไม่อดตาย หนำซ้ำยังได้เงินเท่าๆ กันอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะพวกเช้าชามเย็นชามจะเกาะกินระบบจนมันอยู่ไม่ได้อย่างที่ปัจจุบันนั้น ประเทศที่เป็นอดีตคอมมิวนิสต์ก็เปลี่ยนแปลงการปกครองจนเกือบหมดแล้ว อย่างไรก็ดีแนวคิดแบบสังคมนิยมก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในประเทศเหล่านี้ เพราะเพิ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ถึงแม้จะเกิดพรรคเสรีนิยมมากขึ้น แต่คนส่วนมากก็ยังคุ้นชินกับการได้รับการดูแลจากรัฐ

ที่อารัมภบทมานี้ก็เพราะโลกเรานั้นวิ่งไปมาระหว่างปลายสองข้างซ้ายขวา ไม่เคยพอดีซักทีและผมเชื่อว่าคงไม่มีวันด้วย มันคงวิ่งไปมาอยู่อย่างนี้ต่อไป เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงความพยายามของ อ. ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่เรียกร้องให้เกิดพรรคสังคมนิยม (พรรคแรงงานหรือพรรคคอมมิวนิสต์ สุดแท้แต่จะเรียก) ผมเข้าใจว่า อ. ใจ ไม่ได้โหยหาการกลับมาของคอมมิวนิสต์แน่ๆ แต่ต้องการถ่วงดุลระบบที่เอียงกะเท่เร่อยู่นี้ เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีพรรคการเมืองของมวลชน มีแต่พรรคกุฎมพีแล้วก็พรรคนายทุนมาโดยตลอด นี่เป็นเสียงของความพยายามหนึ่งที่เรียกร้องให้เกิดจุดดุลยภาพระหว่าง "ความเท่าเทียม" - "ประสิทธิภาพ" ให้เกิดขึ้นซักครั้ง

คอมมิวนิสต์นั้น (ตามทฤษฎ๊) จะเบ่งบานได้นั้นต้องลบทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ก่อนหน้าทิ้งทั้งหมด ทั้ง ค่านิยม ความทรงจำ เพราะมันคือการสร้างระบบความสัมพันธ์ของสังคมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด อย่างที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน เรื่องนี้ก็อย่างที่เรารู้ๆ ว่ามันไม่ได้ผล ผมเลยออกจะสงสัยอยู่ว่าการเกิดขึ้นของพรรคสังคมนิยมมันจะเกิดอย่างไร เพราะมันจะต้องเกิดขึ้นบนโครงสร้างของทุนนิยม ซึ่งผมไม่ค่อยเชื่อว่าถึงมันจะเกิดขึ้นมาได้จริง ท้ายสุดแล้วมันจะไม่กลายพันธ์ไปเป็นอย่างอื่น เพราะเบื้องหลังประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคมนั้นย่อมมีส่วนทำปฏิกิริยาต่อการก่อรูปของระบบใหม่ที่ใส่เข้าไป เรามีบทเรียนแล้วจาก คอมมิวนิสต์ของสตาลินที่นับว่าห่างไกลอยู่โขจากอุดมการณ์ของมาร์กซ์

อุดมการณ์นั้นฟังดูดีเสมอ แต่โดยส่วนตัวผมว่าวิธีนั้นน่าฟังกว่า ผมเห็นด้วยกับ อ. ใจ ว่าเราควรมี Milestone ทางสังคมที่พึงปรารถนาและการคิดถึงอะไรที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นั่นย่อมประเสริฐแน่นอน แต่ผมคิดว่าการทำพรรคการเมืองใหม่นามมวลชนนั้นไม่ช่วยอะไร (คือมีก็ดีนะแต่ไม่พอ) เพราะมันต้องใช้ทั้งทุนและก็ยังเป็นระบบตัวแทนอยู่ ถ้าคิดถึงหนังเรื่อง The Metrix แล้วอาจจะช่วยทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่ามนุษย์ยากจะเอาชนะจักรกลได้เพราะต้องเล่นเกมส์บนกติกาของเขา ต้องรอ The One มาปลดปล่อย (ในโลกแห่งความจริงจะพบว่าหมอนี่มันก็เป็นพวกเดียวกับหุ่นยนต์แหละ อิอิ)

ผมชอบแนวคิดการเมืองนอกรัฐมากกว่า เพราะมันสร้างพื้นที่ใหม่นอกอำนาจรัฐและพรรคการเมือง ผมไม่คิดว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องกระดานหมากฮอสที่เรามีพื้นที่จำกัดและการได้มาของพื้นที่ของเราหมายถึงการลดลงของพื้นที่รัฐ แต่ถ้าเราขยายพื้นที่กระดานได้มากขึ้น เราก็จะพบว่าบางทีรัฐนั้นเหลือพื้นที่น้อยกว่าเราหรืออาจเปลี่ยนกติกาอะไรบางอย่างได้ก็เป็นได้

ผมว่าถ้าคุณได้โปรแกรมในอุดมคติมาซักอัน แล้วมันรันไม่ได้บน windows แล้วละก็
คุณชอบอย่างไหนกว่ากัน ระหว่างที่จะต้องแก้โปรแกรมให้ใช้ได้บน windows หรือเขียน OS ใหม่ให้โปรแกรมใช้งานได้ดี

Tuesday, September 20, 2005

หนูๆ ทีเผลอ

เอารูปเด็กๆ มาฝากครับ โพสต์แต่รูปเมืองเดี๋ยวเบื่อแย่

ปล สาวๆ ก็ถ่ายไว้เยอะนะครับ แฮ่ๆ เอาไว้ว่างๆ ก่อนนะ


น้องหนูจากอิตาลีครับ ถ่ายที่ Rome


สามพี่น้องที่ Madrid


"รอคุณแม่อยู่ค่ะ" ถ่ายที่ Stockholm


อ่า อันนี้เด็กด้อยช์นี่เอง ถ่ายที่ Duesseldorf


กิจกรรมของเด็กๆ ในวันหยุดของเมือง Hattingen

เอ๊ะ ทำไมมีแต่รูปเด็กผู้หญิงหว่า
ปล ขอลาไปเดรสเดนก่อน 3-4 วันนะครับ เดี๋ยวจะกลับมาชวนคุยเรื่องมาร์กซิสต์

Saturday, September 17, 2005

กาลเทศะ

คงไม่มีใครสักกี่คนที่กล้าอ่านหนังสือโป๊บนรถไฟฟ้าเท่าๆ กับที่คงไม่มีใครสักกี่คนที่กล้าใส่ชุดแดงแป๊ดมาร่วมงานศพ เพราะการกระทำเหล่านี้ล้วนถูกตำหนิในสังคมทั้งสิ้น เพราะถือเป็นการทำอะไรผิดที่ผิดเวลา หรือที่เรียกว่าไม่มีกาลเทศะ

กาลเทศะ (Space-Time) นั้นนอกจากจะดำรงอยู่ในบริบททางวัฒนธรรมแล้ว กล่าวคือความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในอารยธรรมหนึ่งแล้ว ยังอาจดำรงอยู่ในบริบททางกายภาพได้อีกด้วย ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ได้ยินข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ของการออกมาต่อต้านของสถานอาบ อบ นวด ที่ผ่ามาตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียน เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการที่สังคมยังให้ความสำคัญของกาลเทศะ และก็ยังมีคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะได้ในระดับหนึ่ง

แต่ตัวอย่างข้างต้นนั้นยังไม่ชัดเจนนักในเรื่องของกายภาพ เพราะเป็นเรื่องคาบเกี่ยวระหว่างกาลเทศะทางวัฒนธรรมที่เรารับรู้ผ่านความหมาย (meaning) ของสถานที่ คือโรงเรียนถูกแทนค่าด้วยเยาวชน และ อาบ อบ นวด ถูกแทนค่าด้วยโสเภณี ซึ่งโสเภณีกับเยาวชนนั้นเป็นสิ่งที่ไปกันไม่ได้ในสังคมไทย

ถ้าสถาปัตยกรรมต้องสะท้อนกิจกรรมของอาคารออกมาภายนอกแล้วนั้น เรื่องดังกล่าวคงต้องเป็นอันยุติลงอย่างแน่นอน (ลองคิดว่าอาคารถูกออกแบบให้เป็นรูปคนร่วมประเวณีกัน) เพราะเรื่องนี้คงไม่อาจทำให้ฝ่ายผู้ประกอบการเลี่ยงบาลีใดๆ ได้ และสังคมคงต่อต้านกันขนานใหญ่ แต่ข้อเท็จจริงคืออาคารหลังนี้ถูกออกแบบมาโดยที่หน้าตาก็เหมือนกับโรงแรมทั่วๆ ไป ดังนั้นการทำให้สถานอาบ อบ นวด มีความหมายเท่ากับโรงแรม จึงทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการพอจะหาช่องทางตอบสังคมได้พอประมาณว่าไม่ผิดกาลเทศะเท่าไรนัก

ที่ผมเที่ยวยกตัวอย่างอุปมาอุปไมยนั้นก็เพราะอยากจะบอกเพียงว่า จริงๆแล้วการกำหนดสภาพแวดล้อมทางกายภาพนั้นก็มีกาลเทศะเช่นกัน แต่เป็นที่เข้าใจกันค่อนข้างแคบๆ ในหมู่นักเรียนและโรงเรียนสถาปัตยกรรม ไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจต่อคนทั่วไปมากนัก ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบอาคารยุโรปเสาโรมันที่ครั้งหนึ่งเป็นที่นิยมในโครงการหมู่บ้านจัดสรร ก็ถูกวิพากย์วิจารณ์พอสมควรว่าเป็นการออกแบบที่ผิดที่ (space) เพราะเราไม่มีรากเหง้าระบบคุณค่าแบบตะวันตก อีกทั้งภูมิอากาศบ้านเราเป็นเมืองร้อน ในขณะที่อาคารแบบตะวันเป็นอาคารที่ถูกออกแบบมาเพื่อภูมิอากาศเขตหนาว และนอกจากนี้ยังผิดเวลา (time) อีกด้วย เพราะอารยธรรมโรมันนั้นล่มสลายเป็นพันๆ ปีมาแล้ว การเอาของในอารยธรรมหนึ่งมาสวมแบบดาดๆ กับอีกอารยธรรมแบบข้ามเวลานั้นขาดเหตุผลทางวัฒนธรรมรองรับอย่างแน่นอน นอกเสียจากเหตุผลทางด้านพานิชย์

อธิบายอย่างนี้หลายคนอาจไม่เข้าใจ ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นถ้าเราลองนึกภาพตัวเอง ใส่ชุดเกราะทหารโรมันเดินตามท้องถนน หรือเดินในตลาด คุณคิดว่าเรื่องนี้ผิดกาละเทศะหรือไม่ ถ้าเราทำมันครั้งแรกผมคิดว่าแม่ค้าในตลาดต้องคิดว่าคุณมาถ่ายหนัง (แปลว่าพานิชย์) แต่ถ้าเราทำมันทุกวัน (แปลว่าวัฒนธรรม) ผมว่าแม่ค้าต้องคิดว่าเราบ้าแน่นอน

ผมแค่อยากจะบอกเพียงว่าอาคารหมู่บ้านจัดสรรรูปแบบโรมันนั้น พอมันสร้างเสร็จครั้งแรกมันก็เหมือนเราไปดีสนีย์แลนด์ที่มีปราสาทราชวังให้เราดูตื่นตาตื่นใจเล่น เราไปเพราะมันเป็นการพานิชย์รูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าให้เราอยู่ทุกวันเราก็จะพบว่าเราอยู่กับมันไม่ได้เพราะในความเป็นจริงแล้วเราไม่ใช่เจ้าหญิงหรือเจ้าชายในนิยาย แปลว่าปราสาทราชวังเป็นเรื่องนอกวัฒนธรรมเรานั่นเอง อย่าลืมว่าสถาปัตยกรรมนั้นไม่ใช่โปสเตอร์หรือปฏิทินแฟชั่นนะครับที่เบื่อแล้วก็ทิ้ง เพราะมันอยู่กับเราก็หลักสิบๆ ปีขึ้นไป

ที่เล่ามาไม่ได้หมายความว่าอาคารรูปแบบตะวันตกไม่เหมาะสมกับบริบทวัฒนธรรมไทยด้วยประการทั้งปวงนะครับ ไม่อย่างนั้นใครสวมชุดสูตรหรือชุดสากลผูกไทคงย่อมถูกหาว่าบ้าเช่นกัน เรื่องนี้เพื่อต้องการบอกให้เรารู้ว่าการรับเอาสิ่งที่เป็นของนอกวัฒนธรรมนั้นมีระดับในการกลืนเข้ามาสู่วัฒนธรรมแม่อยู่ ไม่ได้รับเอาแบบดุ้นๆ ส่วนกลืนได้มากหรือได้น้อยนั้นผมคิดว่าขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าบริบท ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราใส่ชุดสายเดี่ยวเกาะอกไปวัดนั้น วัดย่อมไม่อาจกลืนวัฒนธรรมของเราลงไปได้เต็มคำ แต่ถ้าเราไปเดินสยามสแควร์ก็ไม่น่ามีปัญหา ทำนองเดียวกับการใส่ชุดนักเรียนเข้าผับแหละครับ อย่างนี้เป็นต้น

ผมอยากเปรียบลักษณะภายนอกทางสถาปัตยกรรมเหมือนคนใส่เสื้อผ้าหลากหลายแบบ ตั้งแต่ไทยประเพณี (วัด เจดีย์ สถูป) สากล (อาคารสูง ตึกกระจก) จนกระทั่งถึง เด็กแร็พ ฮิปปี้ ฮิบฮอบ (อาคารแบบ Deconstruction) ที่เทียบกันนี้ทำเอาสนุกๆ นะครับ อย่าถือเป็นสาระ เผื่อว่าจะช่วยให้จินตนาการสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ออกมาได้บ้าง จากการเปรียบเทียบง่ายๆ นี้ เราอาจจะพบว่ามีเรื่องไม่ถูกกาลเทศะขึ้นจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมเรา เช่น ตึกสูงในเขตเมืองเก่า วัดอยู่ใกล้กับสถานเริงรมย์ เป็นต้น

แต่ผมว่าเรื่องกาละเทศะนั้นคลายตัวไปมากแล้ว คือไม่เข้มงวดเหมือนเมื่อก่อน เพราะสังคมเริ่มไม่ค่อยตำหนิคนที่ทำอะไรผิดกาละเทศะ และคิดว่าธุระไม่ใช่ หรือตราบใดที่มันไม่มาตบกบาลกรูมันจะทำอะไรก็เรื่องของมัน เป็นต้น พูดง่ายๆ คือสำนึกปัจเจกที่คืบคลานมาทดแทนสำนึกร่วมในสังคมนนั่นเอง จึงไม่แปลกอะไรที่เห็นวัด ตึกสูง และคาราโอเกะที่เผลอๆ จะอยู่ติดๆ กันไปในบล็อคเดียวกันอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจใดๆ

ภาพสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองไทยสำหรับผมแล้วมันก็เหมือนศิลปะแบบฉีกปะ (Collage) ล่ะครับ ที่คนใส่ชุดไทย (วัด) กับเด็กแร็พ (........) โดนกั้นด้วยรั้วบางๆ และตราบใดที่หลวงพี่ไม่ผ่าไปร้องเพลงในคาราโอเกะแล้วล่ะก็สังคมนี้ก็ "ชิว ชิว" ครับ

Tuesday, September 13, 2005

นิยามเกาะรัตนโกสินทร์



"เกาะรัตนโกสินทร์" หรือ "เกาะบางกอก"(ตามชื่อที่ ศ.พล.ร.ต สมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม ท่านคิดว่าควรจะเรียกเช่นนี้) นั้นคือพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนในที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา คลองโอ่งอ่าง และคลองคูเมืองเดิม ที่สะท้อนอารายธรรมและประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ทั้งหมด ตั้งแต่ วัดพระแก้ว พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ภูเขาทอง ฯลฯ เมื่อราวสิบกว่าปีที่แล้วได้มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งเกิดขึ้นในเกาะแห่งนี้ เมื่อคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ตัดสินใจทุบ "ศาลาเฉลิมไทย" เพื่อเปิดมุมมองทางเข้าเกาะรัตนโกสินทร์จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ "โลหะปราสาท" แล้วไอ้เจ้าศาลาเฉลิมไทยนี้มันไปบังอยู่พอดี

คณะกรรมการฯ ใช้เกณฑ์ในการทุบศาลาเฉลิมไทยโดยมองลำคับความสำคัญทางศิลปสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ และเนื่องจากโลหะปราสาทนั้นเหลืออยู่เพียงสามที่ในโลกแล้ว ศาลาเฉลิมไทยที่มีความสำคัญน้อยกว่าจึงต้องหลีกทางแต่โดยดี ถึงแม้ว่าศาลาเฉลิมไทยจะเป็น "ชุดตึกแถว" ที่มีศาลาเฉลิมไทยและโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นหัว-ท้ายของชุด ที่อยู่บนถนนราชดำเนินก็ตาม และการทุบนี้ก็คือ"การถูกกุดหัว" นั่นเอง

เรื่องนี้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยดุษฎีแน่นอน มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยต้อการรื้อศาลาเฉลิมไทย เพราะเฉลิมไทยนั้นเป็นหนึ่งในความทรงจำร่วมของผู้คนอย่างกว้างขวาง สร้างตัวแบบของผู้คนตั้งแต่ มิตร ชัยบรรชา จนถึง สรพงษ์ ชาตรี ซึ่งฝ่ายคัดค้านชูประเด็นเรื่อง "ความหมายของสถานที่" ไม่ใช่ความสำคัญทางสถาปัตยกรรม (เพราะคงทราบว่าแพ้แน่นอน) ผมมองเรื่องนี้เป็นการแย่งกันนิยามอัตลักษณ์ของสองกลุ่ม คือ ระหว่างเจ้านายกับสามัญชน

โลหะปราสาทนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัดราชนัดดา ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่สาม ซึ่งหากมองให้ทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ก็จะพบว่าไม่มีอาคารสมัยรัชกาลที่สามโผล่มาใน scene เลย ถ้าหากไม่เอาศาลาเฉลิมไทยออก เรื่องนี้นอกจากจะแย่งนิยามกับศาลาเฉลิมไทยแล้ว ยังเป็นการช่วงชิงพื้นที่ความทรงจำของเกาะรัตนโกสินทร์มาจากรัชกาลอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น วัดพระแก้ว สนามหลวง จนลามไปถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมเลยทีเดียว



ถ้ามองเข้าไปในตรอกซอกซอย ก็จะพบเช่นกันว่า ไม่เพียงแต่สถาปัตยกรรมแบบ elite จำพวกวัดๆ วังๆ ของเจ้านายและขุนนางจะแย่งกันสร้างวาทกรรมความหมายของสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ชุมชนชาวบ้านก็ต้องนิยามตัวเองด้วย เพราะไม่งั้นก็จะถูกดันตกขอบออกไปจากเกาะรัตนโกสินทร์ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นกรณีการไล่รื้อชุมชนหลังป้อมพระกาฬ และชุมชนภาณุรังษีที่กำลังจะตามมา โดยให้เหตุผลที่ว่าเป็นทัศนอุจาดต่อการท่องเที่ยว

ก็มีบางพื้นที่นะครับที่ชาวบ้านธรรมดานิยามพื้นที่ของตัวเองขึ้นมาได้ ผมนึกออกกรณีเดียวคือ "ตรอกข้าวสาร" แต่อันที่จริงไม่ใช่กรณีศึกษาที่ถือว่าประสบความสำเร็จหรือให้คุณค่าในการเรียนรู้เรื่องการสร้างนิยามมากนัก (ในความคิดของผม) เพราะตรอกข้าวสารช่วงชิงพื้นที่นิยามมาแบบฟลุ๊คๆ เพราะไปทาบพอดีกับนโยบายการท่องเที่ยว ที่เผอิญคนรู้จักกันทั่วโลก

ว่าแต่ว่าวันนี้ถ้าพูดถึงเกาะรัตนโกสินทร์แล้วคุณนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก !!!!

Friday, September 09, 2005

ปกิณกะเรื่องเบียร์

คิดว่าไหนๆ ก็อยู่เมืองเบียร์แล้ว ผมคิดว่าน่าจะเขียนถึงเกร็ดความรู้เรื่องเบียร์ซักเล็กน้อย

ที่บอกว่าเล็กน้อยเพราะมันน้อยจริงๆ ครับ เพราะความรู้ ความชำนาญเรื่องเบียร์นั้นไหลเข้าสู่สังคมไทยมานานแล้ว ถึงขนาดร่ำๆ ว่าจะเข้าตลาดหุ้นกันเลยทีเดียว ถ้าจะไม่เรียกว่าการทำเบียร์ไม่ก้าวหน้าก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปากนัก ดังนั้นที่ผมจะเล่าให้ฟังคงไม่ใช่เกร็ดความรู้เรื่องการทำเบียร์แน่ๆ แต่เป็นเรื่องชนิดของเบียร์ต่างหาก

ถ้าใครที่เคยดื่มเบียร์สัญชาติไทย ไม่ว่าจะเป็น สิงห์ ลีโอ ช้าง ไท ทั้งดีกรีหนักและเบา รวมถึงเบียร์สัญชาตินอก เช่น ไฮเนกเก้น คาร์ลสเบิร์ก คลอสเตอร์ หรือพูดง่ายๆ คือเบียร์สำเร็จบรรจุขวด ทั้งหมดนี้เรียกรวมกันว่า Lager beer ครับ พูดอีกอย่างก็คือเบียร์ที่เรากินกันนั้นไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อยี่ห้ออย่างไรก็แล้วแต่คือเบียร์ชนิดเดียวกันหมด นั่นก็คือใช้กรรมวิธีที่เขาเรียกว่า Bottom fermentation ในการผลิต ส่วนจะมีที่แปลกออกมาก็นิดหน่อย เช่น Guiness เบียร์ดำซึ่งถือว่าเป็นเบียร์ชนิดพิเศษ

ส่วนในเยอรมันนั้นมีเบียร์อื่นๆ หลากหลายชนิดให้เลือกดื่มอีกมากมายกว่านี้มาก แต่คนเยอรมันนั้นแทบจะไม่กิน Lager beer เลยครับ (แถวที่ผมอยู่ไม่ค่อยเห็นคนดื่ม แต่ที่อื่นอาจจะนิยม) เค้าจะเอาไว้ส่งออกเป็นส่วนมาก คนที่นี่มันกินเบียร์จนเกือบจะเหมือนน้ำเปล่า เขาจะนิยมกินเบียร์ประเภทเดียวกับ Lager beer ที่เรียกว่า "Pilsner" หรือ "Pils" (ทางภาคใต้นิยมดื่มเบียร์อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "Hells") ผมไม่ทราบว่ากรรมวิธีในการผลิตของเบียร์สองชนิดนี้ต่างกันอย่างไร แต่รู้ว่าต่างแน่โดยที่ Pils นั้นผ่านการ fermentation ที่นานกว่า Lager แต่ทั้งคู่นั้นเอายีสต์ออกจากเบียร์หมดจนเห็นเป็นน้ำใสๆ สีเหลืองทอง และส่วนมากนั้นใช้ดอกฮอบ (Hopfen) เป็นวัตถุดิบยืนพื้นในการผลิต

นอกจากนี้ยังมีเบียร์อีกชนิดที่รสอ่อนและหอมหวานกว่าที่คนเยอรมันนิยมดื่ม เรียกว่า "Weizen" ผมเคยไปตามโรงเบียร์บ้านเราก็พบว่ามีเบียร์ชนิดนี้เหมือนกัน แต่บ้านเราเรียก เบียร์ผลไม้ ซึ่งจริงๆ แล้ว Weizen beer นั้นทำมาจากข้าวสาลีนะครับ ไม่ได้ทำจากผลไม้แต่อย่างใด เสน่ห์ของ Weizen คือจะมีกลิ่นหอมชวนดื่มมากกว่า Pils และก็จะขุ่น ไม่ใสปิ๊ง เพราะทิ้งยีสต์ให้แขวนลอยไปกับตัวเบียร์

เบียร์ชนิดพิเศษอื่นๆ ก็มีอีกมากนะครับ ไม่ว่าจะเป็น Alt beer (old beer), Malz beer (Malt beer) ตลอดจนถึงเบียร์ที่ทำกินขายกันเองเองเฉพาะบางพื้นที่ แต่ที่แน่ๆ แต่ละเมืองนั้นแทบจะมี Brand เบียร์ของตัวเองทั้งสิ้น (มีเบียร์ในประเทศนี้เป็นร้อยๆ ยี่ห้อ)

พอดีกลางเดือนนี้จะเป็นงานเทศกาลเบียร์ระดับโลกที่เมืองมิวนิก ซึ่งจัดเป้นประจำทุกปี ที่รู้จักกันดีในนามของ งาน Oktoberfest โดยเกร็ดย่อๆ ของงานนี้ก็คือเมื่อช่วงศตวรรษที่ 18-19 (ไม่แน่ใจ) สมัยที่แคว้นบาวาเรีย (รัฐบาเยิร์น) ยังไม่เป็นประเทศเยอรมันอย่างทุกวันนี้ ชาวแคว้นได้เฉลิมฉลองที่กษัตริย์ (ไม่แน่ใจว่า Max หรือ Ludwig) ทรงอภิเษกสมรส สร้างความยินดีแก่พสกนิกรเป็นอันมาก พอครบรอบวันอภิเษกสมรสจึงได้มีการเฉลิมฉลองสืบเนื่องต่อมาเป็นธรรมเนียมจนกลายเป็น Oktoberfest อย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน แต่ก่อนมันจะเริ่มตรงกับเดือนตุลาคม แต่เนื่องจากปัจจุบันฤดูใบไม้ผลิมาเร็วขึ้นทำให้ต้องเริ่มเร็วขึ้นไปด้วยเพราะไม่อย่างนั้นจะหนาวเกินไป แต่จัดให้งานไปเลิกเอาต้นเดือนตุลาเพื่อให้ยังพูดได้ว่าเป็น Oktoberfest อยู่

แต่ถ้าท่านได้มีโอกาสไปร่วมงาน Oktoberfest แล้วล่ะก็ ลองกระซิบถามฝรั่งคนข้างๆ ท่านในโรงเบียร์ว่าเขามาจากไหน ถ้าเขาบอกว่าเป็นคนมิวนิกแล้วล่ะก็ เชิญท่านมาเตะตูดผมได้เลย เพราะคนมิวนิกจะไม่ออกมากินเบียร์ช่วงนี้เนื่องจากราคาเบียร์จะแพงมหาศาลต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ (รู้สึกว่าจะลิตรละ 6-7 ยูโร) บรรยากาศโรงเบียร์นั้นไม่เหมือนกับบ้านเราเท่าไหร่นะครับ เค้าจะนั่งม้ายาวๆ แบบเก้าอี้โรงอาหารอย่างนั้นแหละ เปิดให้กินกันตั้งแต่สิบโมงเช้าจนถึงตีหนึ่ง ใครยังไม่สาแก่ใจก็ไปกินต่อเองตามสวน หรือสถานีรถไฟ และเบียร์ในงานก็มีขนาดเดียวครับ คือ แก้วละลิตร แปลว่ากินสามแก้วก็สามลิตรครับ


ไม่มีอะไรเป็นสาระมากนักหรอกครับ เล่าสู่กันฟังเฉยๆ ถ้าใครมีโอกาสไปโรงเบียร์บ้านเรา ลองสังเกตดูนะครับว่ามี Pilsner ขายหรือเปล่า ถ้ามีก็ลองสั่งมานะครับ

Tuesday, September 06, 2005

Verliebt in Berlin



เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงของประเทศเยอรมัน ประกอบไปด้วยประชากรราว 3 ล้านกว่าคน และเป็นเมืองที่ผมชอบมากที่สุดในประเทศนี้ เหตุเพราะเมืองนี้มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายๆ กรุงเทพฯ (อย่างน้อยก็เป็นเมืองหนึ่งที่เมื่อดึกๆ แล้วยังหาอะไรกินได้ง่าย)ผมเลยอยากเขียนถึงเป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เผื่อมีผู้ไม่รู้จักเมืองนี้เหมือนอย่างผมตอนมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ ใครรู้แล้วก็ข้ามๆได้นะครับ ไม่ต้องอ่าน

ในสมัยที่เยอรมันยังไม่รวมประเทศนั้น เบอร์ลินถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือเบอร์ลินตะวันตกที่เป็นของเยอรมันตะวันตกเดิม และเบอร์ลินตะวันออกที่เป็นของเยอรมันตะวันออกเดิม ผมเคยสงสัยมาตลอดว่ากำแพงเบอร์ลินนั้นแบ่งประเทศนี้ออกเป็นสองส่วนได้อย่างไร เพราะตอนแรกผมคิดว่ามันเหมือนกำแพงเมืองจีน ที่เป็นกำแพงยาวไปเรื่อยๆ และแบ่งเบอร์ลินออกเป็นสองส่วนคือตะวันตกและตะวันออก ทำให้ผมสับสนว่ากำแพงนี้จะกันคนสองประเทศไม่ให้ข้ามไปมาหากันได้อย่างไร เพราะเบอร์ลินตะวันตกนั้นก็ถูกห้อมล้อมด้วยส่วนที่เป็นเยอรมันตะวันออกเดิมทั้งหมด

จริงๆ แล้วกำแพงเบอร์ลินไม่ได้เป็นกำแพงยาวๆ แบบที่ผมคิด แต่เป็นกำแพงล้อมรอบเป็นครึ่งรูปวงกลม ที่กันส่วนเบอร์ลินตะวันตกเอาไว้ไม่ให้คนฝั่งตะวันออกไหลเข้ามา (คนฝั่งตะวันตกนั้นคงไม่เข้าไปในฝั่งตะวันออกเพราะยากจนกว่ามาก) เปรียบเทียบง่ายๆ คือเบอร์ลินตะวันตกนั้นเปรียบเสมือนไข่แดงในวงล้อมไข่ขาว โดยคนฝั่งตะวันตกจะเข้าไปในเบอร์ลินตะวันตกได้เพียงทางเดียวคือรถยนต์ที่วิ่งบนทางด่วนที่คนไม่สามารถเข้าไปได้เลย เปรียบง่ายๆ ก็เหมือนหลอดเลือดจากเยอรมันตะวันตกเดิมพุ่งสู่เบอร์ลินตะวันตก

ทำไมประเทศนี้ถึงเคยแบ่งเป็นสองส่วนนั้น ก็เพราะเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันเป็นประเทศแพ้สงครามอย่างเป็นทางการโดยประเทศคู่กรณีกับเยอรมันทั้งสี่ประเทศ ประกอบด้วย อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และ รัสเซีย ได้เข้าไปดูแลและกำหนดทิศทางให้ประเทศนี้ภายใต้สนธิสัญญา Potsdam ว่าเยอรมันต้องทำอะไรบ้างเพื่อฟื้นฟูประเทศ รวมถึงการจำกัดความสามารถด้านการทหารลง

แต่เนื่องจากตัวคู่กรณีเองแบ่งเป็นสองฝ่าย คือโลกเสรีนิยม ที่ประกอบด้วย อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส และโลกสังคมนิยมโดยฝ่ายรัสเซีย ทำให้สุดท้ายจำต้องแยกประเทศออกเป็นสองส่วนโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน เยอรมันตะวันตกถือหางโดยฝ่ายเสรีนิยม ส่วนเยอรมันตะวันออกถือหางโดยฝ่ายสังคมนิยม อาจถือว่านี่เป็นจุดกำเนิดของสงครามเย็นก็ว่าได้

เบอร์ลินในฐานะที่เป็นเมืองหลวงเดิมก็จึงถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นของเยอรมันตะวันออกก็ถูกยกเป็นเมืองหลวง ในขณะที่ของฝั่งตะวันตกต้องไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงบอนน์ โดยในสนธิสัญญาระบุว่าเมื่อใดที่เยอรมันทั้งสองรวมกันอีกครั้งนึง เมื่อนั้นจะกลับมาใช้เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงตามเดิม

ทุกวันนี้เบอร์ลินนั้นมีประชากรชาวตุรกีมากที่สุด (สงสัยว่าจะมากกว่าชาวเยอรมันเสียอีก) เนื่องจากตอนแพ้สงครามใหม่ๆ ชาวเยอรมันไม่มีแรงงานประชากรมากพอจะฟื้นฟูประเทศได้จึงต้องเชิญชาวตุรกีมาเป็นแรงงานสำคัญ โดยเบอร์ลินตะวันตกนั้นส่วนมากจะมีแต่พวกตุรกีอยู่ พออยู่ๆ ไปก็ออกลูกหลานจนเป็นส่วนหนึ่งของคนเยอรมัน (ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่จะเห็นชาวเยอรมันผมดำ หยักศก เพราะพวกนี้คือพวกเติร์กที่มาอยู่จนกลืนเป็นคนเยอรมันไปแล้ว อย่างเช่น มิคาเอล บัลลัค แห่งสโมสรฟุตบอลบาเยิร์น มิวนิก เป็นต้น)

จนวันที่ 3 ตุลาคม 1990 เป็นวันที่เยอรมันรวมประเทศ สัญลักษณ์แห่งสงครามเย็นอย่างกำแพงเบอร์ลินได้พังทลายลง ปิดฉาก 4 ทศวรรษแห่งการพลัดพรากของญาติมิตรและกลับมารวมเป็นครอบครัวเดียวกันอีกครั้ง

เบอร์ลินสำหรับผมแล้วเป็นเหมือนวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์นที่ถูกเขียนให้กลมกลืนโดยทิ้งรอยขีดฆ่าจางๆ ไว้ตลอด บอกเล่าว่าแต่ก่อนผู้เขียนเคยเขียนอะไรไว้บ้างบนวรรณกรรมเล่มนี้ แม้ว่าหลายอย่างจะเปลี่ยนไปจากสภาพเดิมแล้ว แต่ยังคงดูสับสน ไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นเนื้อเดียว ซึ่งก็เป็นเสน่ห์อีกแบบของเมืองหลวงแห่งประเทศที่มีส่วนก่อและแพ้สงครามโลกทั้งสองครั้ง

Sunday, September 04, 2005

The rise and fall of social network

Robert D. Putnam ศาสตราจารย์ชื่อดังด้านสังคมศาสตร์และสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนหนังสือชื่อ Bowling Alone ที่มีฐานจากงานวิจัย โดยชื่อหนังสือเอง สะท้อนให้เห็นการลดลงอย่างฮวบฮาบของทุนสังคมในรอบ 25 ปีของสหรัฐอเมริกา (โดยใช้ดรรชนีหลายๆ อย่างเช่น การร่วมสมาคมต่างๆ การกินข้าวเย็นอย่างพร้อมหน้า เป็นต้น) หรือกล่าวคือ สังคมคนอเมริกันนั้นมีแนวโน้มที่จะมีชีวิตอยู่โดยมีความสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ กับผู้อื่นที่ลดลง หรือก็คือมีความเป็นปัจเจกสูงขึ้น

อันที่จริงแล้วผมเชื่อว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแทบจะทุกสังคม รวมทั้งในสังคมไทยเองก็ตาม โดยมีดรรชนีที่สำคัญร่วมกันคือการมีระดับของการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง (urbanization) ที่สูงขึ้น ส่วนเรื่องระดับการ urbanization จะสัมพันธ์กับการลดลงของทุนสังคมอย่างมีนัยสำคัญมากน้อยแค่ไหนนั้น ผมเองไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดแต่อยากจะทิ้งไว้ให้เป็นข้อสังเกตในเบื้องต้นก่อน

ผมเองนั้นเป็นคนเมืองโดยกำเนิด และตลอดชั่วชีวิตที่ผ่านมานั้น ผมไม่เคยรู้จักกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านของผมเลย (ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่าด้วยซ้ำ) ชุมชนที่ผมอยู่อาศัยนั้นไม่แน่ว่าจะเรียกชุมชนได้ด้วยซ้ำเพราะเนื่องจากผมไม่เคยเห็นคนแถวบ้านผมจะจัดกิจกรรมอะไรร่วมกันซักกะอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ทอดผ้าป่า งานบวชเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาวัยรุ่นร่วมกันของคนในหมู่บ้าน ฯลฯ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบต่างคนต่างอยู่ รู้จักกันแต่เพียงผิวเผินว่าข้างบ้านเป็นใครก็เท่านั้นเอง (ที่ว่ารู้จักก็เป็นรุ่นแม่ผมด้วยซ้ำ ส่วนตัวผมนั้นไม่รู้จักหรอก)

ครับ ที่ผมกล่าวมาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างละแวกบ้าน (neighborhood)หากสังคมใดหรือชุมชนใดๆ มีกิจกรรมแบบที่ผมว่านั้น เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติอย่างที่แถวบ้านผมไม่มีแล้วล่ะก็ ในทางทฤษฎีทุนสังคม เค้าถือว่าชุมชนนี้มีทรัพยากร (resource) ชนิดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบอย่างน้อยสองอย่างคือ "ความไว้เนื้อเชื่อใจ" (mutual trust) และ "เครื่อข่ายความสัมพันธ์" (network)โดยทางวิชาการเรียกทรัพยากรแบบนี้ว่า ทุนสังคม (social capital)

แต่ถ้าสังคมใดไม่มีทุนสังคมก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมนั้นจะล่มสลายลงไปหรอกครับ อย่างกรณีแถวบ้านผมก็จัดได้ว่าไม่มี ผู้คนก็อยู่อย่างปกติดีเพราะแต่ละบ้านมีทุนรูปแบบอื่นในการดำรงชีวิต เช่น เงินในบัญชี ที่ดิน พันธบัตรรัฐบาล ใบหุ้น ฯลฯ แต่ก็เป็นความสัมพันธ์แบบที่เรารู้ๆ กันอยู่คือ แยกตัวโดดเดี่ยว เป็น unit ทางสังคมที่วางอยู่บนพื้นที่เดียวกันโดยไม่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เนื่องจากมีปัจเจกสำนึกที่สูง



แต่ไม่ได้หมายความทุกชุมชนเมืองจะเป็นเช่นนี้นะครับ เพราะอย่างน้อยมีชุมชนแห่งหนึ่งในเมืองที่ trust และ network เป็นทรัพยากรสำคัญให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ประสบการณ์บอกผมว่าสิ่งนี้มีอยู่อย่างน้อยก็ในชุมชนแออัดทั่ว กทม. เพราะชาวชุมชนแออัดนั้นโดยมากเป็นผู้ที่ย้ายถิ่นมาจากที่อื่น "เครือข่าย" จึงสำคัญมากในฐานะทรัพยากร คิดง่ายๆ ว่า พอเดินออกจากหัวลำโพงแล้ว ถ้าไม่มี "คนบ้านเดียวกัน" อยู่ก่อนแล้ว เขาหรือเธอที่มีทุนส่วนตัวอยู่น้อยนิด ก็จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการไปอาศัยอยู่กับคนรู้จักชั่วคราวก่อนอย่างแน่นอน

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชนชั้นกลางจะถูกแปลกแยกออกไปนะครับ เพราะชนชั้นกลางนั้นก็มีเครือข่ายเช่นกัน แต่เป็นเครือข่ายที่ไม่สัมพันธ์กับพื้นที่ เช่น สมาคม ชมรม กลุ่มผู้นิยม ฯลฯ นั่นคือชนชั้นกลางมีสำนึกและมีทรัพยากรเรื่องประเด็น เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ แต่ไม่อำนาจต่อรองใดๆ เชิงพื้นที่ ถ้าราชการจะเวนคืนหมู่บ้านของชนชั้นกลางนั้นทำได้ไม่ยาก แค่จ่ายเงินให้ทีละบ้านก็แทบจะเรียบร้อย เพราะเครือข่ายความสัมพันธ์อ่อนแรงเกินกว่าจะต่อต้านขัดขืนได้ แต่เรื่องเดียวกันนั้นหน่วยราชการแทบไม่เคยทำได้สำเร็จกับการไล่รื้อชุมชนแออัด

พอจะเห็นพลังของเครือข่ายหรือยังครับ อันที่จริงแล้วทั้งเครือข่ายเชิงพื้นที่แบบชาวชุมชนแออัด (อาจกว่าได้ว่าเป็นแบบจำลองของชุมชนชนบทในเมือง) และเครือข่ายชูประเด็นแบบชนชั้นกลางนั้นสำคัญทั้งสิ้นครับ เพราะต่างฝ่ายก็ให้สำนึกของสังคมร่วมกัน ที่น่าสนใจคือทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ทั้งสองแบบเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในสองสังคม แค่คิดก็สนุกแล้วครับ