Tuesday, September 13, 2005

นิยามเกาะรัตนโกสินทร์



"เกาะรัตนโกสินทร์" หรือ "เกาะบางกอก"(ตามชื่อที่ ศ.พล.ร.ต สมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม ท่านคิดว่าควรจะเรียกเช่นนี้) นั้นคือพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนในที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา คลองโอ่งอ่าง และคลองคูเมืองเดิม ที่สะท้อนอารายธรรมและประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ทั้งหมด ตั้งแต่ วัดพระแก้ว พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ภูเขาทอง ฯลฯ เมื่อราวสิบกว่าปีที่แล้วได้มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งเกิดขึ้นในเกาะแห่งนี้ เมื่อคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ตัดสินใจทุบ "ศาลาเฉลิมไทย" เพื่อเปิดมุมมองทางเข้าเกาะรัตนโกสินทร์จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ "โลหะปราสาท" แล้วไอ้เจ้าศาลาเฉลิมไทยนี้มันไปบังอยู่พอดี

คณะกรรมการฯ ใช้เกณฑ์ในการทุบศาลาเฉลิมไทยโดยมองลำคับความสำคัญทางศิลปสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ และเนื่องจากโลหะปราสาทนั้นเหลืออยู่เพียงสามที่ในโลกแล้ว ศาลาเฉลิมไทยที่มีความสำคัญน้อยกว่าจึงต้องหลีกทางแต่โดยดี ถึงแม้ว่าศาลาเฉลิมไทยจะเป็น "ชุดตึกแถว" ที่มีศาลาเฉลิมไทยและโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นหัว-ท้ายของชุด ที่อยู่บนถนนราชดำเนินก็ตาม และการทุบนี้ก็คือ"การถูกกุดหัว" นั่นเอง

เรื่องนี้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยดุษฎีแน่นอน มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยต้อการรื้อศาลาเฉลิมไทย เพราะเฉลิมไทยนั้นเป็นหนึ่งในความทรงจำร่วมของผู้คนอย่างกว้างขวาง สร้างตัวแบบของผู้คนตั้งแต่ มิตร ชัยบรรชา จนถึง สรพงษ์ ชาตรี ซึ่งฝ่ายคัดค้านชูประเด็นเรื่อง "ความหมายของสถานที่" ไม่ใช่ความสำคัญทางสถาปัตยกรรม (เพราะคงทราบว่าแพ้แน่นอน) ผมมองเรื่องนี้เป็นการแย่งกันนิยามอัตลักษณ์ของสองกลุ่ม คือ ระหว่างเจ้านายกับสามัญชน

โลหะปราสาทนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัดราชนัดดา ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่สาม ซึ่งหากมองให้ทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ก็จะพบว่าไม่มีอาคารสมัยรัชกาลที่สามโผล่มาใน scene เลย ถ้าหากไม่เอาศาลาเฉลิมไทยออก เรื่องนี้นอกจากจะแย่งนิยามกับศาลาเฉลิมไทยแล้ว ยังเป็นการช่วงชิงพื้นที่ความทรงจำของเกาะรัตนโกสินทร์มาจากรัชกาลอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น วัดพระแก้ว สนามหลวง จนลามไปถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมเลยทีเดียว



ถ้ามองเข้าไปในตรอกซอกซอย ก็จะพบเช่นกันว่า ไม่เพียงแต่สถาปัตยกรรมแบบ elite จำพวกวัดๆ วังๆ ของเจ้านายและขุนนางจะแย่งกันสร้างวาทกรรมความหมายของสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ชุมชนชาวบ้านก็ต้องนิยามตัวเองด้วย เพราะไม่งั้นก็จะถูกดันตกขอบออกไปจากเกาะรัตนโกสินทร์ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นกรณีการไล่รื้อชุมชนหลังป้อมพระกาฬ และชุมชนภาณุรังษีที่กำลังจะตามมา โดยให้เหตุผลที่ว่าเป็นทัศนอุจาดต่อการท่องเที่ยว

ก็มีบางพื้นที่นะครับที่ชาวบ้านธรรมดานิยามพื้นที่ของตัวเองขึ้นมาได้ ผมนึกออกกรณีเดียวคือ "ตรอกข้าวสาร" แต่อันที่จริงไม่ใช่กรณีศึกษาที่ถือว่าประสบความสำเร็จหรือให้คุณค่าในการเรียนรู้เรื่องการสร้างนิยามมากนัก (ในความคิดของผม) เพราะตรอกข้าวสารช่วงชิงพื้นที่นิยามมาแบบฟลุ๊คๆ เพราะไปทาบพอดีกับนโยบายการท่องเที่ยว ที่เผอิญคนรู้จักกันทั่วโลก

ว่าแต่ว่าวันนี้ถ้าพูดถึงเกาะรัตนโกสินทร์แล้วคุณนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก !!!!

12 Comments:

At September 15, 2005 2:58 AM, Anonymous Anonymous said...

นึกถึงถนนราชดำเนิน... อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย... อนุสรณ์สถานวีรชน... วัดพระแก้ว... หน้าพระลาน... ท่าช้าง... ท่าพระจันทร์... มธ.... ถนนพระอาทิตย์... สวนสันติฯ และชุมชนบางลำพูค่ะ

โซนนี้เป็นย่านที่คุ้นเคยที่สุดแล้วล่ะค่ะในเกาะรัตนโกสินทร์ ^^

 
At September 15, 2005 4:20 AM, Blogger Nattawut said...

แต่ผมชอบสนามหลวงแฮะ เพราะมันมีหลาย Layer ดี มีตั้งแต่คนจรจัดไร้บ้าน โสเภณี จนถึงงานพระราชพิธีสำคัญๆ

โคตรเจ๋งเลย

 
At September 15, 2005 7:25 AM, Blogger B ^ ^ N said...

นึกถึงเมื่อ8ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ไปถนนพระอาทิตย์ เป็นเหมือนถนนในความฝันที่รางๆ แต่เป็นบรรยากาศแบบเย็นๆ แปลกๆ

 
At September 15, 2005 1:06 PM, Anonymous Anonymous said...

พอดีเพิ่งได้อ่านของงานอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้จากนิตยสาร มติชนรายสัปดาห์มาเหมือนกันครับ ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การทุบนั่นทุบนี่ ย้ายคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ออกจากที่ที่เขาเคยอยู่นั้น คนที่ทำคงอยากให้เกาะกรุงฯเป็นเหมือนดิสนี่แลนด์ คือมีแต่ตึกสวยๆ (ที่แม้แต่ดิสนี่แลนด์ก็ลอกตามแบบได้ไม่ใช่เรื่องยาก) แต่สำหรับอาจารย์ท่านบอกว่า เรื่องของวัฒนธรรมมันไม่ใช่แค่ตึก มันหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนบริเวรนั้นด้วย ซึ่งแต่ละที่มีลักษณะเฉพาะตัวของตัวเอง ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ (ดิสนี่แลนด์ทำไม่ได้)

ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับบทความเรื่องนี้ครับ ฝรั่งเยอรมันที่ผมรู้จักส่วนมากเขาก็นิยมชมชอบ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ของสถานที่มากว่าตัวสถานที่ครับ ยกตัวอย่างหลายๆที่ Denkmal Kirche ในเบอร์ลิน เขาก็อนุรักษ์แต่ไม่ซ่อม เพื่อให้คนได้ลำลึกถึงพิษสงคราม หรือปราสาท Herren Chiem See ที่ Prien ที่สร้างเสร็จเพียงครึ่งเดียว อันที่จริงรัฐก็สามารถทำต่อให้เสร็จให้สวยงามได้ แต่เขาไม่ทำ เพื่อให้คนได้เห็นและย้อนลำลึกถึงประวัติศาสตร์สมัยสร้าง ฯลฯ

สถานที่ก็มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในตัวของมันเอง การอนุรักษืไว้เป็นสิ่งดีครับ แต่ครั้นจะไปรุกรานสิ่งอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไม่แพ้กัน ผมคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องนักครับ

 
At September 15, 2005 2:49 PM, Blogger Nattawut said...

เรื่องที่ว่าอะไรควรอยู่อะไรควรไปอย่างกรณีเฉลิมไทยนั้น ผมเองเห็นว่าเป็นเรื่องนานาจิตตังครับ

ถ้าศาลาเฉลิมไทยมันต้องย้ายผมก็ยอมรับได้ (แม้ส่วนหนึ่งจะไม่เห็นด้วย) แต่ผมติดใจที่ว่าศาลาเฉลิมไทยนั้นจากไปโดยไม่ได้ทิ้งร่องรอยความทรงจำทางกายภาพใดๆ ไว้เลย

ผมอยากเห็นดีไซน์บริเวณพื้นที่ศาลาเฉลิมไทยเดิมที่แยบคายกว่านี้ เพราะทำได้หลายอย่าง อย่างเช่นเหลือรอยขอบฐานไว้หรือแม้แต่ทำอาคารเป็นกระจกทั้งหลัง เพื่อให้มองทะลุไปสู่โลหะปราสาทก็ยังทำได้

แต่ศาลาเจษฎาบดินทร์ที่โผล่มาทับเฉลิมไทยแบบขวานผ่าซากนี่ ผมละงงจริงๆ

 
At September 17, 2005 12:29 AM, Blogger crazycloud said...

ผมก็ชอบเดินแถวเกาะรัตนโกสินทร์มาก ทีเด็ดอยู่ ควีน แกลรอรี่ ชอบมีงานแสดงภาพครับ ล่าสุด ทั้งถวัลย์ ดรรชนี และปรีชา เถาทอง ครับท่าน งามซะไม่มี ดูไม่รู้เรื่อง ฮา ฮา

 
At September 17, 2005 12:40 AM, Blogger B ^ ^ N said...

ยังไม่อัพอีกหรอ หลายวันแล้วนะ ขี้เกียจอะดิ

 
At September 17, 2005 7:36 PM, Blogger Nattawut said...

จะเร่งไปถึงไหนวุ้ย

 
At September 20, 2005 12:13 PM, Blogger vok89 said...

จำได้ว่าตอนอาจารย์มาร์คเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเป็นการส่วนตัวเมื่อตอนโน้น มึงเล่าละเอียดกว่านี้นี่ เห็นอ้างอิงไปถึงสถาปนิกชื่นดัง ที่เป็นหนึ่งในกรรมการที่เสนอให้ทุบศาลาเฉลิมไทยด้วย เพราะมีส่วนได้ประโยชน์จากการที่มีสัญลักษณ์ของ ร.3 เข้ามาแย่งซีนบนถนนแห่งนี้

(แต่ถ้าถามถึงว่าคิดถึงอะไรเวลาได้ยินชื่อเกาะนี้
ผมคิดถึง thesis ครับ คิดถึงเพื่อนมาร์ค(นามสมมุติ)ด้วย ที่มาพร้อมสาวๆ และกองทัพหนุ่มๆที่ติดตามสาวๆเหล่านั้นอีกที มาช่วยผมทำโมเดลเสร็จภายในสองคืน)

 
At September 20, 2005 1:15 PM, Blogger Nattawut said...

555555
ไม่อยากพาดพิงถึงบุคคลที่สามในที่สาธารณะ
แต่มันมีมูลให้คิดนี่นาเพราะแกใช้ราชสกุล ร 3
เอาเป็นว่ามันโดนทุบไปแล้วก็แล้วกัน

ส่วน thesis คุณผมจำได้ว่ามันอยู่แถวโอเรียนเต็ลไม่ใช่เหรอ

 
At September 21, 2005 6:50 AM, Blogger vok89 said...

เออ แต่ตัวคอนเทนมันเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมริมฝั่งแม้น้ำเจ้าพระยาจากเกาะรัตนโกสินทร์เรียบๆมาเรื่อยๆไง มันเลยต้องไปหาข้อมูล+ดื่มเบียร์แถวนั้นบ่อยๆ

 
At September 24, 2005 7:29 PM, Anonymous Anonymous said...

When did you take these photographs? By looking at the cars, it seems to me that you took them when you were in kindergraten.

 

Post a Comment

<< Home