Sunday, September 04, 2005

The rise and fall of social network

Robert D. Putnam ศาสตราจารย์ชื่อดังด้านสังคมศาสตร์และสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนหนังสือชื่อ Bowling Alone ที่มีฐานจากงานวิจัย โดยชื่อหนังสือเอง สะท้อนให้เห็นการลดลงอย่างฮวบฮาบของทุนสังคมในรอบ 25 ปีของสหรัฐอเมริกา (โดยใช้ดรรชนีหลายๆ อย่างเช่น การร่วมสมาคมต่างๆ การกินข้าวเย็นอย่างพร้อมหน้า เป็นต้น) หรือกล่าวคือ สังคมคนอเมริกันนั้นมีแนวโน้มที่จะมีชีวิตอยู่โดยมีความสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ กับผู้อื่นที่ลดลง หรือก็คือมีความเป็นปัจเจกสูงขึ้น

อันที่จริงแล้วผมเชื่อว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแทบจะทุกสังคม รวมทั้งในสังคมไทยเองก็ตาม โดยมีดรรชนีที่สำคัญร่วมกันคือการมีระดับของการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง (urbanization) ที่สูงขึ้น ส่วนเรื่องระดับการ urbanization จะสัมพันธ์กับการลดลงของทุนสังคมอย่างมีนัยสำคัญมากน้อยแค่ไหนนั้น ผมเองไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดแต่อยากจะทิ้งไว้ให้เป็นข้อสังเกตในเบื้องต้นก่อน

ผมเองนั้นเป็นคนเมืองโดยกำเนิด และตลอดชั่วชีวิตที่ผ่านมานั้น ผมไม่เคยรู้จักกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านของผมเลย (ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่าด้วยซ้ำ) ชุมชนที่ผมอยู่อาศัยนั้นไม่แน่ว่าจะเรียกชุมชนได้ด้วยซ้ำเพราะเนื่องจากผมไม่เคยเห็นคนแถวบ้านผมจะจัดกิจกรรมอะไรร่วมกันซักกะอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ทอดผ้าป่า งานบวชเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาวัยรุ่นร่วมกันของคนในหมู่บ้าน ฯลฯ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบต่างคนต่างอยู่ รู้จักกันแต่เพียงผิวเผินว่าข้างบ้านเป็นใครก็เท่านั้นเอง (ที่ว่ารู้จักก็เป็นรุ่นแม่ผมด้วยซ้ำ ส่วนตัวผมนั้นไม่รู้จักหรอก)

ครับ ที่ผมกล่าวมาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างละแวกบ้าน (neighborhood)หากสังคมใดหรือชุมชนใดๆ มีกิจกรรมแบบที่ผมว่านั้น เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติอย่างที่แถวบ้านผมไม่มีแล้วล่ะก็ ในทางทฤษฎีทุนสังคม เค้าถือว่าชุมชนนี้มีทรัพยากร (resource) ชนิดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบอย่างน้อยสองอย่างคือ "ความไว้เนื้อเชื่อใจ" (mutual trust) และ "เครื่อข่ายความสัมพันธ์" (network)โดยทางวิชาการเรียกทรัพยากรแบบนี้ว่า ทุนสังคม (social capital)

แต่ถ้าสังคมใดไม่มีทุนสังคมก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมนั้นจะล่มสลายลงไปหรอกครับ อย่างกรณีแถวบ้านผมก็จัดได้ว่าไม่มี ผู้คนก็อยู่อย่างปกติดีเพราะแต่ละบ้านมีทุนรูปแบบอื่นในการดำรงชีวิต เช่น เงินในบัญชี ที่ดิน พันธบัตรรัฐบาล ใบหุ้น ฯลฯ แต่ก็เป็นความสัมพันธ์แบบที่เรารู้ๆ กันอยู่คือ แยกตัวโดดเดี่ยว เป็น unit ทางสังคมที่วางอยู่บนพื้นที่เดียวกันโดยไม่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เนื่องจากมีปัจเจกสำนึกที่สูง



แต่ไม่ได้หมายความทุกชุมชนเมืองจะเป็นเช่นนี้นะครับ เพราะอย่างน้อยมีชุมชนแห่งหนึ่งในเมืองที่ trust และ network เป็นทรัพยากรสำคัญให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ประสบการณ์บอกผมว่าสิ่งนี้มีอยู่อย่างน้อยก็ในชุมชนแออัดทั่ว กทม. เพราะชาวชุมชนแออัดนั้นโดยมากเป็นผู้ที่ย้ายถิ่นมาจากที่อื่น "เครือข่าย" จึงสำคัญมากในฐานะทรัพยากร คิดง่ายๆ ว่า พอเดินออกจากหัวลำโพงแล้ว ถ้าไม่มี "คนบ้านเดียวกัน" อยู่ก่อนแล้ว เขาหรือเธอที่มีทุนส่วนตัวอยู่น้อยนิด ก็จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการไปอาศัยอยู่กับคนรู้จักชั่วคราวก่อนอย่างแน่นอน

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชนชั้นกลางจะถูกแปลกแยกออกไปนะครับ เพราะชนชั้นกลางนั้นก็มีเครือข่ายเช่นกัน แต่เป็นเครือข่ายที่ไม่สัมพันธ์กับพื้นที่ เช่น สมาคม ชมรม กลุ่มผู้นิยม ฯลฯ นั่นคือชนชั้นกลางมีสำนึกและมีทรัพยากรเรื่องประเด็น เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ แต่ไม่อำนาจต่อรองใดๆ เชิงพื้นที่ ถ้าราชการจะเวนคืนหมู่บ้านของชนชั้นกลางนั้นทำได้ไม่ยาก แค่จ่ายเงินให้ทีละบ้านก็แทบจะเรียบร้อย เพราะเครือข่ายความสัมพันธ์อ่อนแรงเกินกว่าจะต่อต้านขัดขืนได้ แต่เรื่องเดียวกันนั้นหน่วยราชการแทบไม่เคยทำได้สำเร็จกับการไล่รื้อชุมชนแออัด

พอจะเห็นพลังของเครือข่ายหรือยังครับ อันที่จริงแล้วทั้งเครือข่ายเชิงพื้นที่แบบชาวชุมชนแออัด (อาจกว่าได้ว่าเป็นแบบจำลองของชุมชนชนบทในเมือง) และเครือข่ายชูประเด็นแบบชนชั้นกลางนั้นสำคัญทั้งสิ้นครับ เพราะต่างฝ่ายก็ให้สำนึกของสังคมร่วมกัน ที่น่าสนใจคือทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ทั้งสองแบบเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในสองสังคม แค่คิดก็สนุกแล้วครับ

4 Comments:

At September 04, 2005 6:10 PM, Blogger B ^ ^ N said...

บุนเองก็ไม่มีเพื่อนในหมู่บ้านเหมือนกัน คือแค่รู้จักว่าพี่คนนี้ น้องคนนี้เป็นลูกบ้านตรงข้ามแค่นั้นแหละ เจอกันก็ทักทายบ้าง ที่รู้จักกันก็น่าจะเป็นระดับแม่ๆมากกว่า แล้วที่รู้จักก็รู้จากแม่อีกที

คือถ้าอยู่บ้านนี้คนเดียวแต่แรกก็คงจะไม่ได้รู้จักใครเลยอะ

อันนี้จัดเป็นชนชั้นกลางเครือข่ายหลวมๆใช่ม๊ะ

 
At September 04, 2005 6:21 PM, Blogger Nattawut said...

yeah,
but when will you update yours???

 
At September 04, 2005 6:38 PM, Blogger B ^ ^ N said...

-*- หึ

 
At September 18, 2005 4:45 AM, Blogger crazycloud said...

คน เป็น สัตว์สังคม

วิถีทุน วิถีวัตถุ หันเห คน จาก คน

คน หันเห จาก คน ปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ต่างๆ ย่อมลดลง

สังคมในทางพื้นที่จึงพร่าเลือน

แต่ คน ยังหนี ธรรมชาติ ไม่พ้น ในปัจจุบัน จึงเกิดสังคมในพื้นที่ใหม่ๆ เช่น การเจอกัน ของเราใน บล็อกนี้

เราอาจมีเพื่อนในบล็อก แต่เมื่อเดินออกนอกห้อง เราอาจจะไม่มีใครเลย

ในต่างจังหวัด จะเห็นความพร่าเลือน ได้ชัด เนื่องจากมีความเปรียบต่าง (Contrast) สูง ในกรุงฯ ก็ไม่ต่างเพียงแต่เราอาจเคยชินกับมันแล้ว ก็ได้

 

Post a Comment

<< Home