Monday, August 15, 2005

ใบประกอบวิชาชีพ

สภาสถาปนิกได้ผลักดันให้รัฐสภาผ่าน พรบ สถาปนิกเป็นที่เรีบยร้อย โดยมีเนื้อหาหลักๆว่าด้วยเรื่องขอบเขตการออกแบบและควบคุมงานทางด้านสถาปัตยกรรม โดยแบ่งออกเป็น สาขาสถาปัตยกรรม ภูมิสภาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภายใน และการออกแบบเมือง โดยต่อไปนี้ผู้ที่จบการศึกษาด้านใดมานั้นจะสามารถออกแบบได้เพียงเฉพาะสาขาที่ตนเองจบมาไม่สามารถทำงานข้ามสาขาได้ เว้นแต่ได้สั่งสมประสบการณ์ในระดับหนึ่งจึงมีสิทธิสอบใบอนุญาตในสาขาอื่นๆ เพิ่ม

แนวคิดนี้ผมเข้าใจเอาเองว่าเกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาการแย่งงานกันเองในวิชาชีพสถาปัตยกรรม เพราะที่ผ่านมา มีสถาปนิกเข้าไปรับงานออกแบบตกแต่งภายใ น ออกแบบสวน ดังนั้นการออก พรบ ฉบับนี้ทำเพื่อจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ในวงการรออกแบบ หรือพูดอีกอย่างคือควบคุมอำนาจความรู้ให้ตรงแถว

วิธีคิดแบบนี้คาดหวังเอาว่านอกจากจะลด (หรืออาจเพิ่ม) ปัญหาการแย่งงานกันเองแล้ว ยังสามารถกันคนนอกวิชาชีพออกไปนอกวงได้อย่างดีอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น สาขาการออกแบบเมืองนั้นต่อไปนี้ไม่อาจทำได้โดยผู้ที่ไม่ได้จบการศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมการออกแบบเมืองในระดับบัณฑิตศึกษาอย่างกรณีของผู้จบเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ แล้วมาเรียนต่อสถาปัตยกรรมเมืองได้อีกแล้ว งานออกแบบผังกายภาพจะต้องมีผู้มีใบอนุญาตในการออกแบบเฉพาะ ซึ่งคนที่ไม่ได้เรียนสถาปัตยกรรมมาแต่แรกจะถูกกันออกไปตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร

เรื่องใบประกอบวิชาชีพนั้นจำเป็นแน่นอนครับ ส่วนที่ชัดเจนที่สุดก็เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย อย่างกรณีของใบประกอบโรคศิลป์ทางการแพทย์ หรือ การประกอบวิชาชีพทางวิศวกรรม แต่ในด้านการออกแบบนั้นผมก็เห็นว่าจำเป็นอยู่ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องการผูกขาดความรู้ทางสุนทรียศาสตร์ไว้กับคนกลุ่มหนึ่งด้วยเช่นกัน หมายความว่าใครเรียนมาไม่ตรงสายถือว่ามีความรู้ด้านนี้น้อยหรือไม่มีความรู้เลย ทั้งๆที่สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องระบบคุณค่า ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินแต่อย่างใด

ในขณะที่แนวโน้มสังคมความรู้ในระดับสากลนั้นมีแนวโน้มเป็นความรู้แบบสหวิทยาการข้ามสาขา แต่การที่มี พรบ ฉบับนี้กลับทำให้ความรู้กรอบอยู่เฉพาะกับผู้ที่ศึกษามาในแนวทางเดียวกันเท่านั้นเหมือนอย่างเช่นในอดีตของฝรั่ง เช่นพวก Blacksmiths, Goldsmiths ที่ยิ่งความรู้ถูกจำกัดไว้ในสมาคมตัวเองมากเท่าไหร่ก็มีอำนาจมากเท่านั้น แต่สุดท้ายความรู้เช่นนี้ก็จะหายไปหมด เพราะมันไม่แตกยอดออกไป บทเรียนอันนี้ฝรั่งรู้ดีครับว่าความรู้เรื่องหนึ่งจะพัฒนาต่อยอดได้ต้องอาศัยวิชาการด้านอื่นๆ เข้ามาผสมผสาน เช่นจะพัฒนาวงการช่างทองนั้นต้องมีความรู้เรื่องวัสดุ เครื่องมือ ศิลปกรรม ตลอดจนถึงการตลาด เพราะไม่มีความรู้การทำทองที่โดดๆ เป็นเอกเทศของตัวเอง

ความรู้ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ย่อมต้องหายไปอย่างแน่นอนในอนาคต แต่ความรู้ที่ถูกนำมาใช้โดยคนกลุ่มหนึ่งแบบสมบัติพลัดกันชมจะพัฒนาได้อย่างมากที่สุดก็เป็นได้แค่สกุลช่าง คือเป็นเพียงแค่เครื่องมือทำมาหากินเท่านั้น ถ้าสภาสถาปนิกในฐานะสถาบันวิชาชีพ อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมความรู้แล้วละก็ ควรเปิดโอกาสให้คนนอกวงวิชาชีพ (ที่มีความรู้ทางสถาปัตยกรรมในระดับอื่นๆ นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ โดยเฉพาะในระดับ ป ตรี) เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะความรู้เรื่องสุนทรียของสังคมไทยควรต้องมาจากทุกฝ่ายในสังคม

ไม่อย่างนั้น คงเหมือนอย่างที่ อ. เซ้ง (นามสมมติ) ว่าไว้ว่า "ต่อไปเราคงต้องมีใบประกอบวิชาชีพทำนาแล้วล่ะ"

2 Comments:

At August 16, 2005 1:10 AM, Blogger vok89 said...

ผมว่าผมเกิดมาซวยจริงๆว่ะ ที่ไม่เคยคิดว่าอะไรที่ผมทำได้แล้วคนอื่นๆเขาจะทำไม่ได้เลยสักอย่าง

อีกหน่อยผมออกกฏหมายใบประกอบวิชาชีพคนเล่นกีต้าร์บ้างดีกว่า
ถ้าท่านไม่ได้หัดเล่นตั้งแต่เด็กจากโรงเรียนในเครือที่ผมเคยเรียนมา อย่ามาสะเออะหัดเองตอนโตน่ะ มันทำลายคลื่นเสียงในบรรยากาศโลก แล้วก็ห้ามเอาไปเล่นตามชายหาดด้วย มันอันตรายต่อการสื่อสารของปลาวาฬใต้ทะเล

 
At August 16, 2005 9:57 AM, Blogger B ^ ^ N said...

ชอบปลาวาฬเพชรฆาตจัง ตัวดำๆ หัวกลมๆ น่าร๊ากกก

 

Post a Comment

<< Home