Wednesday, August 31, 2005

ว่าด้วยการอนุรักษ์

วันพรุ่งนี้จะเป็นวันครบรอบ 15 ปีแห่งการจากไปของคุณ สืบ นาคะเสถียร ผู้จุดประกายการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างมีนัยสำคัญให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย ผมเลยอยากเขียนถึงเรื่องการอนุรักษ์ซักนิดนึง แต่เนื่องจากผมยังไม่มีประเด็นจะเขียนถึงเรื่องนี้เท่าไหร่ จึงขออนุญาตเขียนถึงเรื่องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแทนแล้วกัน

เอาเข้าจริงๆแล้ว เรื่องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมนั้นผมก็ไม่มีความรู้เป็นระบบอะไรมากนัก ความรู้ที่ดีที่สุดของผมก็ได้มาจากการฝึกงานสมัยเป็นนักเรียนสถาปัตยกรรมตอนปีสี่นั่นแหละ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะนึกถึงบทสนทนากับน้องไอซ์ (นามสมมติ) สมัยที่ยังอยู่เมืองไทยเมื่อราวสองปีก่อนขึ้นมาได้

น้องไอซ์เป็นนักศึกษาปริญญาโทด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโดยตรง ซึ่งแกมีความสนใจการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้เป็นพิเศษ โดยแกเล่าให้ผมฟังว่าวิธีคิดเรื่องการอนุรักษ์ของตะวันตกกับตะวันออก (อันที่จริงแกหมายถึงในญี่ปุ่น)นั้นแตกต่างกัน แกบอกว่าฝรั่งนั้นคำว่าอนุรักษ์ในความมุ่งหมายแรกหมายถึงการทำให้สถาปัตยกรรมนั้นคงสภาพแบบที่มันเป็นมาในอดีตให้มากที่สุด หรือที่เรียกว่า preservation หรือหากสถาปัตยกรรมนั้นเสื่อมสภาพก็มีแนวทางบูรณะหลายแบบตั้งแต่ซ่อมแซม ต่อเติมให้เหมือนของเดิม หรือถ้ามันพังทลายจนเกือบหมดสิ้นแล้วก็ได้แก่การสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดด้วยเทคนิควิธีการที่มีในปัจุบัน โดยอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเกณฑ์ ที่กล่าวมานี้นั้นส่วนมากเป็นกรณีของสถาปัตยกรรมที่ป็นโบราณสถานในลักษณะ Monumental ส่วนในกรณีของอาคารที่ยังคงมีการใช้งานอยู่นั้น สามารถทำได้โดยอาจเปลี่ยนการใช้งานให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ที่เรียกวิธีการนี้ว่า Addaptive re-use อย่างในกรณีที่เอาบ้านคุณพระสมัยก่อนมาปรับเป็นร้านอาหารหรือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโดยคงสภาพกายภาพภายนอกไว้คงเดิม

ส่วนในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบตะวันออกนั้น แกยกกรณีของในประเทศญี่ปุ่น ว่าในประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่มีอาคารเก่าแก่แบบที่สร้างมาแล้ว 400-500 ปีหรอก เพราะญี่ปุ่นนั้นเมื่ออาคาร (จำพวกบ้านเรือน ปราสาทราชวัง) เก่าหรือเสื่อมสภาพลงเขาก็จะรื้อมันทิ้งแล้วสร้างใหม่ทั้งหมด ดังนั้นสถาปัตยกรรมรูปแบบโบราณยังไงก็ดูใหม่เสมอ ผมเคยคุยเรื่องนี้กับ ฮิโระ (นามสมมติ) บัณฑิตจากรั้วโทได เพื่อนชาวญี่ปุ่นร่วม Institute ก็ให้การยืนยันตรงกับน้องไอซ์ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ฮิโระเสริมว่าคนญี่ปุ่นนั้นไม่ค่อยสนใจอดีตเท่าไหร่ (คือไม่ได้คิดว่าเราต้องกลับไปหาอดีตอันรุ่งโรจน์) แต่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็น norm ของสังคมอย่างมาก ผมเข้าใจเอาว่าถ้าคนส่วนมากสืบทอด norm จากรุ่นสู่รุ่นแล้ว จึงไม่น่าแปลกที่ญี่ปุ่นสามารถผสานความเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับจารีตไว้ได้อย่างเข้มแข็ง (ปล จริงๆ มันคงสะท้อนภาพการอนุรักษ์ได้แค่บางส่วนเพราะเป็นปากคำของชาวญี่ปุ่นเพียงคนเดียว แถมเป็นลูกหลานซามูไรอีกต่างหาก เลยให้แง่มุมที่จำกัดระดับหนึ่ง ซึ่งผมไม่มีทางเลือกอะไรมาก ก็ได้แต่เชื่อๆ ไปก่อน)

เรื่องนี้ออกจะทำให้ผมแปลกใจนิดหน่อย แต่ก่อนที่จะถามอะไรมากไปกว่านั้น น้องไอซ์ก็เสริมว่าที่ญี่ปุ่นทำเช่นนี้เพราะมีเหตุผลอย่างน้อยสองประการ คือ ประการแรกเนื่องจากวัสดุการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ ทำให้อายุการใช้งานไม่ยาวนานมากนักจึงไม่สามารถอนุรักษ์ตามแนวทางแบบฝรั่งอย่างได้ผลดี (ส่วนมากสถาปัตยกรรมตะวันตกจะทำจากหิน ที่มีความคงทนถาวรมากกกว่าไม้) แต่เหตุผลประการที่สองนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง คือเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ช่างฝีมือในการก่อสร้าง เพราะจะอนุรักษ์ช่างฝีมือไว้ได้นั้นก็ต้องให้เกิดการปฏิบัติจริงอย่างสม่ำเสมอ เขาถึงได้รื้อแล้วสร้างใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะนอกจากทำให้เกิดงานอาชีพแล้วยังสามารถรักษาเทคนิควิธีการก่อสร้างแบบโบราณไว้ได้อย่างดี หมายความว่าความหมายของการอนุรักษ์ของคนญี่ปุ่นนั้นกินความมากไปกว่าการักษาของเก่าที่ไม่มีอยู่จริงในชีวิตประจำวันจึงต้องรักษาไว้ แต่หากเป็นเรื่องปกติในชีวิตอยู่เอง หรือถ้าพูดแบบฮิโระก็คือ มันก็แค่ความพยายามรักษา norm เอาไว้เท่านั้นเอง

ผมกลับมานั่งคิดย้อนเรื่องการอนุรักษ์อาคารในประเทศไทย ก็พบว่าเรานั้นมีการอนุรักษ์แบบที่กรมศิลปากรทำ(ผมคิดว่าเป็นการอนุรักษ์ที่เป็นแนวคิดแบบตะวันตก) คือการอนุรักษโบราณสถาน เช่นพวกตำหนัก สถูป เจดีย์ อันที่จริงก็เป็นเรื่องไม่แปลกอะไรเพราะอาคารเหล่านี้ส่วนมากเป็นอิฐมอญและปูนปั้น แนวทางนี้ก็ยังสำคัญและมีคุณค่าอยู่ในตัวมันเอง ในขณะที่เมื่อมองไปอีกด้านเราก็พบว่าเรามีอาคารเรือนไม้มากมายแบบที่ญี่ปุ่นมีเช่นกัน แต่เมื่อสำรวจแล้วก็ใจหายเพราะจะพบว่าสกุลช่างไม้เราแทบจะสูญพันธ์ไปหมดแล้ว เนื่องจากเหตุผลหลายๆ อย่างทั้งด้านค่านิยม (ที่บ้านไม้ดูฐานะยากจนกว่าบ้านตึก) ตลอดจนถึงสถานการณ์ป่าไม้ในบ้านเรา ช่างฝีมือที่เคยปลูกเรือนให้คุณพระหรือเจ้าพระยาในอดีต เมื่อคุณพระย้ายมาอยู่ตึก แกก็ตกงานสิครับ เมื่อไม่ได้ทำงานความรู้ ความชำนาญก็ต้องล้มหายไป เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสกุลช่างที่รับใช้ศักดินานะครับ ในระดับชาวบ้านเช่นพวกเรือนเครื่องผูก ก็เห็นว่าบางตาไปมากเช่นกัน จนตอนนี้เราแทบจะต้องไปดูเรือนไทยในพิพิธภัณฑ์กันแล้ว (เหมือนอย่างที่สวนสัตว์ทำหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ที่ไม่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน) สารภาพว่าผมออกจะอิจฉาคนญี่ปุ่นที่ทำเรื่องการอนุรักษ์เป็นเรื่อง Everydayness ไม่ใช่เรื่อง Agenda อย่างที่หลายประเทศประสบปัญหา

การอนุรักษ์ (ในระดับชาวบ้าน) นั้นไม่น่าใช่การดองไข่เค็มแน่ๆ กล่าวคือไม่ใช่การทำให้มันคงสภาพแบบยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม หรือคงรูปเดิมให้มากที่สุด อย่าไปยุ่งกับมันเด็ดขาดอะไรทำนองนี้ แต่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมระดับชาวบ้าน (สถาปัตยกรรมแบบเจ้านายนั้นหลุดออกไปจากเงื่อนไขบริบททางสังคมไปนานแล้ว จึงต้องใช้แนวทางอนุรักษ์แบบที่กรมศิลปากรทำหรือเน้น) เหมือนกับที่วิธีอนุรักษ์ภาษาไทยที่ดีที่สุดคือการใช้มันบ่อยๆ ไม่ใช่การอัดเทปเก็บเอาไว้

ถึงแม้ว่ากรมศิลปากรจะไหวตัวแล้วกับวิกฤตอันนี้ เพราะที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์แต่โบราณสถานมาโดยตลอด แต่ก็ออกจะช้าไปสักหน่อยแล้ว อย่างไรก็ตามก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
กลไกตลาดนี่มันอานุภาพร้ายแรงจริงๆ พับผ่าสิ แถมไม่เคยไม่เคยสนใจเรื่องให้คุณค่า ตัวตน และอัตลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้นอีกด้วย

ได้แต่หวังว่าการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยนั้นจะไม่เป็นเหมือนการสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วต่อให้มีคุณสืบอีกกี่คนก็คงไม่พอแน่ๆ



ปล รูปบนคือ Porta Nigra สถาปัตยกรรมโรมันที่แผ่อำนาจเข้าไปในเยอรมัน ตั้งอยู่ที่เมือง Trier บ้านเกิดของ Karl Marx (เอาไว้โอกาสหน้าจะเขียนถึงเรื่องนี้นะครับ) ส่วนรูปข้างล่างคือเจดีย์วัดเจ็ดยอดที่เชียงใหม่ครับ

2 Comments:

At September 02, 2005 8:04 AM, Blogger B ^ ^ N said...

ตอนไปทริปปี5ของที่คณะ จำได้ว่ามีอย่างนึงที่ขัดใจมากๆ ...ต้นดอกเข็มตัดแต่งทรงเป็นรูป4เหลี่ยม ปลูกไว้ตามโบราณสถาน เด่นเป็นสง่าที่ทางเข้า ดูแล้วไม่เข้ากันเป็นอย่างยิ่ง

 
At September 04, 2005 5:14 AM, Anonymous Anonymous said...

เข้ามาดู

 

Post a Comment

<< Home