Tuesday, September 06, 2005

Verliebt in Berlin



เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงของประเทศเยอรมัน ประกอบไปด้วยประชากรราว 3 ล้านกว่าคน และเป็นเมืองที่ผมชอบมากที่สุดในประเทศนี้ เหตุเพราะเมืองนี้มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายๆ กรุงเทพฯ (อย่างน้อยก็เป็นเมืองหนึ่งที่เมื่อดึกๆ แล้วยังหาอะไรกินได้ง่าย)ผมเลยอยากเขียนถึงเป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เผื่อมีผู้ไม่รู้จักเมืองนี้เหมือนอย่างผมตอนมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ ใครรู้แล้วก็ข้ามๆได้นะครับ ไม่ต้องอ่าน

ในสมัยที่เยอรมันยังไม่รวมประเทศนั้น เบอร์ลินถูกแบ่งเป็นสองส่วนคือเบอร์ลินตะวันตกที่เป็นของเยอรมันตะวันตกเดิม และเบอร์ลินตะวันออกที่เป็นของเยอรมันตะวันออกเดิม ผมเคยสงสัยมาตลอดว่ากำแพงเบอร์ลินนั้นแบ่งประเทศนี้ออกเป็นสองส่วนได้อย่างไร เพราะตอนแรกผมคิดว่ามันเหมือนกำแพงเมืองจีน ที่เป็นกำแพงยาวไปเรื่อยๆ และแบ่งเบอร์ลินออกเป็นสองส่วนคือตะวันตกและตะวันออก ทำให้ผมสับสนว่ากำแพงนี้จะกันคนสองประเทศไม่ให้ข้ามไปมาหากันได้อย่างไร เพราะเบอร์ลินตะวันตกนั้นก็ถูกห้อมล้อมด้วยส่วนที่เป็นเยอรมันตะวันออกเดิมทั้งหมด

จริงๆ แล้วกำแพงเบอร์ลินไม่ได้เป็นกำแพงยาวๆ แบบที่ผมคิด แต่เป็นกำแพงล้อมรอบเป็นครึ่งรูปวงกลม ที่กันส่วนเบอร์ลินตะวันตกเอาไว้ไม่ให้คนฝั่งตะวันออกไหลเข้ามา (คนฝั่งตะวันตกนั้นคงไม่เข้าไปในฝั่งตะวันออกเพราะยากจนกว่ามาก) เปรียบเทียบง่ายๆ คือเบอร์ลินตะวันตกนั้นเปรียบเสมือนไข่แดงในวงล้อมไข่ขาว โดยคนฝั่งตะวันตกจะเข้าไปในเบอร์ลินตะวันตกได้เพียงทางเดียวคือรถยนต์ที่วิ่งบนทางด่วนที่คนไม่สามารถเข้าไปได้เลย เปรียบง่ายๆ ก็เหมือนหลอดเลือดจากเยอรมันตะวันตกเดิมพุ่งสู่เบอร์ลินตะวันตก

ทำไมประเทศนี้ถึงเคยแบ่งเป็นสองส่วนนั้น ก็เพราะเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันเป็นประเทศแพ้สงครามอย่างเป็นทางการโดยประเทศคู่กรณีกับเยอรมันทั้งสี่ประเทศ ประกอบด้วย อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และ รัสเซีย ได้เข้าไปดูแลและกำหนดทิศทางให้ประเทศนี้ภายใต้สนธิสัญญา Potsdam ว่าเยอรมันต้องทำอะไรบ้างเพื่อฟื้นฟูประเทศ รวมถึงการจำกัดความสามารถด้านการทหารลง

แต่เนื่องจากตัวคู่กรณีเองแบ่งเป็นสองฝ่าย คือโลกเสรีนิยม ที่ประกอบด้วย อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส และโลกสังคมนิยมโดยฝ่ายรัสเซีย ทำให้สุดท้ายจำต้องแยกประเทศออกเป็นสองส่วนโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน เยอรมันตะวันตกถือหางโดยฝ่ายเสรีนิยม ส่วนเยอรมันตะวันออกถือหางโดยฝ่ายสังคมนิยม อาจถือว่านี่เป็นจุดกำเนิดของสงครามเย็นก็ว่าได้

เบอร์ลินในฐานะที่เป็นเมืองหลวงเดิมก็จึงถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นของเยอรมันตะวันออกก็ถูกยกเป็นเมืองหลวง ในขณะที่ของฝั่งตะวันตกต้องไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงบอนน์ โดยในสนธิสัญญาระบุว่าเมื่อใดที่เยอรมันทั้งสองรวมกันอีกครั้งนึง เมื่อนั้นจะกลับมาใช้เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงตามเดิม

ทุกวันนี้เบอร์ลินนั้นมีประชากรชาวตุรกีมากที่สุด (สงสัยว่าจะมากกว่าชาวเยอรมันเสียอีก) เนื่องจากตอนแพ้สงครามใหม่ๆ ชาวเยอรมันไม่มีแรงงานประชากรมากพอจะฟื้นฟูประเทศได้จึงต้องเชิญชาวตุรกีมาเป็นแรงงานสำคัญ โดยเบอร์ลินตะวันตกนั้นส่วนมากจะมีแต่พวกตุรกีอยู่ พออยู่ๆ ไปก็ออกลูกหลานจนเป็นส่วนหนึ่งของคนเยอรมัน (ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่จะเห็นชาวเยอรมันผมดำ หยักศก เพราะพวกนี้คือพวกเติร์กที่มาอยู่จนกลืนเป็นคนเยอรมันไปแล้ว อย่างเช่น มิคาเอล บัลลัค แห่งสโมสรฟุตบอลบาเยิร์น มิวนิก เป็นต้น)

จนวันที่ 3 ตุลาคม 1990 เป็นวันที่เยอรมันรวมประเทศ สัญลักษณ์แห่งสงครามเย็นอย่างกำแพงเบอร์ลินได้พังทลายลง ปิดฉาก 4 ทศวรรษแห่งการพลัดพรากของญาติมิตรและกลับมารวมเป็นครอบครัวเดียวกันอีกครั้ง

เบอร์ลินสำหรับผมแล้วเป็นเหมือนวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์นที่ถูกเขียนให้กลมกลืนโดยทิ้งรอยขีดฆ่าจางๆ ไว้ตลอด บอกเล่าว่าแต่ก่อนผู้เขียนเคยเขียนอะไรไว้บ้างบนวรรณกรรมเล่มนี้ แม้ว่าหลายอย่างจะเปลี่ยนไปจากสภาพเดิมแล้ว แต่ยังคงดูสับสน ไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นเนื้อเดียว ซึ่งก็เป็นเสน่ห์อีกแบบของเมืองหลวงแห่งประเทศที่มีส่วนก่อและแพ้สงครามโลกทั้งสองครั้ง

2 Comments:

At September 07, 2005 8:42 AM, Anonymous Anonymous said...

รูปสวยมากๆๆๆๆๆเลย ชอบมาก ดูโรแมนติกมากกว่าน่ากลัวนะ

ไปแบบสองคนกุ๊กกิ๊กๆน่าจะดี

อิอิ

 
At September 16, 2005 5:16 AM, Blogger crazycloud said...

อิจฉา ผู้มีโอกาสไปเรียนจัง ผมเขียนขอทุน DAAD แต่พลาด ทั้งที่ได้ U แล้วที่ Muenster เสียดาย

 

Post a Comment

<< Home