Sunday, July 31, 2005

จากกรมป่าไม้สู่ ททท.

ผมเพิ่งได้มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ และได้ทราบข่าวว่าพื้นที่อุทยานดงพญาเย็น-เขาใหญ่-ทับลาน-ปางสีดา ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ถึงแม้จะเข้าเกณฑ์เพียงข้อเดียวก็ตามที จวบจนวันนี้เราก็มีมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมรวม 5 แห่งพอดิบพอดี

ผมแอบดีใจเล็กๆ ที่เขาใหญ่เป็นมรดกโลก ด้วยเหตุผลแรกคือเพราะผมได้มีโอกาสคุ้นเคยทำงานที่นั่นช่วงระยะเวลาหนึ่งกับเพื่อนผมหลายๆคน (ซึ่งเชื่อว่าเดี๋ยวคงมีโอกาสมาเยี่ยมในเวบล็อก) ถึงแม้จะไม่ได้มีผลงงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าไหร่นัก แต่ก็ได้เห็นความพิเศษของผืนป่าแห่งนี้ จากคำบอกเล่า ของอดีตพรานบ้าง เจ้าหน้าที่ป่าไม้บ้าง เพื่อนผมเองหลายๆ คนบ้าง และก็ได้รับความรู้มากมายทางพฤกษศาสตร์ที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยรู้มาก่อน อีกเหตุผลหนึ่งคือหวังว่าจะเกิดความตื่นตัวในการอนุรักษ์ขึ้นอีกครั้ง (เฮือก)

หนึ่งในความรู้ที่ผมทราบนั้น ก็คือแต่ก่อนนั้นกรมป่าไม้ไม่ได้มีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างในปัจจุบัน แต่เป็นหน่วยงานที่ตั้งมาเพื่อตัดไม้ขาย คือ กรมป่าไม้ไม่ได้ตัดเอง แต่ให้สัมปทานพื้นที่ป่าแก่เอกชนโดยตัวเองมีหน้าที่จัดสรรพื้นที่และเก็บค่าสัมปทาน จนกระทั่งป่าไม้และสัตว์ป่าของไทยร่อยหรอลง จนไม่ให้มีการสัมปทานอีกแล้วในปัจจุบัน

อันที่จริงการขายทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพยากรมนุษย์ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอกครับ ที่ไหนก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น อย่างประเทศในตะวันออกกลางก็ขายน้ำมันจนร่ำรวย ในขณะที่ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรมากนักก็ขายทรัพยากรมนุษย์ ไม่ใกล้ไม่ไกลก็สิงคโปร์ ใกล้ๆ บ้านเรานี่เอง เพราะทรัพย์สินส่วนเกิน (surplus)ที่ทำให้คนเรามั่งคั่งขึ้นมาได้ เอามาได้สองทางนี้ จากธรรมชาติก็เช่น การเกษตร ขุดแร่ การประมง ฯลฯ ส่วนที่เอามาจากมนุษย์ด้วยกัน ก็ได้แก่ การค้าขาย หมายถึงคือถ้าเรา ขายของ 100 บาท เมื่อในราคาต้นทุนของมันอยู่ที่ 50 บาท ส่วนต่าง 50 บาทนี้ เราเอามาจากส่วนเกินแรงงานของผู้ซื้อ ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของคาร์ล มาร์กซ

และเมื่อทรัพยากรอันหนึ่งหมดลงก็หาทรัพยากรอื่นมาขาย เหมือนที่แบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์ครั้งหนึ่งบอกว่าภาคใต้ของเราอุดมไปด้วย ดีบุก แต่ปัจจุบันนี้ก็ได้ถูกทดแทนโดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

วันนี้เราไม่มีกรมป่าไม้ในภาพนั้นแล้ว แต่ผมไม่รู้ว่าใครจะรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) นั้นทำหน้าที่เหมือนอดีตกรมป่าไม้ คือ ยังคงวนเวียนขายทรัพยากร ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม จะดีกว่าอดีตกรมป่าไม้ตรงที่รายได้เกิดขึ้นโดยตรงต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ถึงแม้ว่าเกือบทั้งหมดจะอยู่ในมือนายทุนกลุ่มหนึ่งก็เหอะ แต่ก็ยังจ้างแรงงานท้องถิ่นบ้าง (แต่การสัมปทานป่าในอดีตก็จ้างนะ พวกควาญช้างอะไรอย่างงี้ เป็นต้น)

และผมก็คิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบซ้ายตกขอบ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ตระหนกว่านี่มันผ่านมาจะ 50 ปีแล้ว (นับตั้งแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับแรก) จนวันนี้เราก็ยังคงเดินหน้าขายทรัพยากรธรรมชาติต่อไป ประหนึ่งว่ามันไม่มีวันหมด ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวจะไม่ได้ก่อให้เกิดความบอบช้ำอย่างชัดเจนต่อทรัพยากรธรรมชาติเหมือนการทำป่าไม้ และได้มีการรณรงค์อนุรักษ์ออกมาต่อเนื่อง แต่ผมก็ไม่ได้เชื่อน้ำยา ททท. มากเท่าไรนัก ตราบเท่าที่ ททท. ยังมีเป้าว่าต้องดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้นเท่านี้ มันก็ต้องขยายการลงทุนแหงๆ (และไม่แปลกที่จะมีการบุกรุกพื้นที่ป่าทำรีสอร์ต)

ได้แต่หวังว่า ททท. คงไม่ขายทรัพยากรเหล่านี้จนแห้งกรัง เพราะผมเองคงไม่ได้อยากได้มรดกโลกแห่งใหม่อีกแล้วด้วยเหตุผลที่ว่า "มันเหลือน้อยลงไปทุกวันจนเราต้องเก็บไว้ให้ลูกหลานดู" ซ้ำร้ายผมเองก็ยังไม่เห็นคนท้องถิ่นจะร่ำรวยขึ้นตรงไหน ผมก็ยังรู้สึกว่าพวกเขาก็ยังเหมือนควาญช้างครั้งเมื่อมีกรมป่าไม้แบบในอดีตอยู่เช่นเดิม

จะรีดเอาจากธรรมชาติหรือคนด้วยกันก็เอาเหอะครับ ไม่ว่าจะใช้นิทานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ก็แล้วแต่ แต่เปลี่ยนปกไปก็ไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ เพราะเรื่องนี้เค้าเล่าซ้ำๆ กันจนเก่าแล้วแหละ

Friday, July 29, 2005

บ้าน(ราชบ)ดิน(ทร์)หายไปไหน

เมื่อซัก 2-3 ปีที่แล้วผมมีโอกาสได้ไปสัมพันธ์คลุกคลี กับกลุ่มคนในอาศรมวงศ์สนิท ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป จากคำเชิญชวนของ เพื่อนเอิร์ธ (นามสมมติ) เพราะเพื่อนเอิร์ธที่เป็นช่างภาพได้รับงานถ่ายรูปประกอบหนังสือที่จัดพิมพ์โดยอาศรม จริงๆ แล้วเอิร์ธรู้จักมักคุ้นกับคนในอาศรมอยู่แล้ว เพราะเป็นพวกคอเดียวกัน

ผมควรเล่าให้ฟังก่อนเล็กน้อยก่อนว่า อาศรมวงศ์สนิท เป็นชุมชนทางเลือกที่ดำเนินตามหลักการเรื่องความเป็นอยู่อย่างพอเพียง และเป็นสถานที่วิปัสนาสมาธิ ของคนที่ต้องการปลีกวิเวกหาความสงบ ซึ่งสามารถแวะมาได้ครั้งคราว ตัวผมเองก็เคยไปนอนเล่นบ้างประปราย แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนจำนวนนึงที่ศรัทธาในวิถีทางเลือก ประกอบไปด้วยนักคิด ศิลปิน ปัญญาชน กวี ฯลฯ ที่อาศัยอยู่และดำเนินงานช่วยกิจกรรมอาศรมอย่างสม่ำเสมอ โดยหนึ่งในกิจกรรมชีวิตทางเลือก คือ "บ้านดิน" ที่เป็นสถาปัตยกรรมทางเลือก โดยเสนอแนวคิดให้คนปลูกบ้านอยู่เอง ที่ทำจากดินเกือบทั้งหลัง

อันที่จริงบ้านดินไม่ใช่ของใหม่ (แต่ใหม่ในสังคมไทย) คุณโจน จันได ที่เป็นหัวหอก แกได้แนวคิดนี้มาจากที่สหรัฐอเมริกา และแกก็เห็นว่าสอดคล้องกับแนวทางการพึ่งตนเอง จึงมาสร้างเป็นกิจกรรมทางเลือก อย่างน้อยก็เรื่องที่อยู่อาศัย เพื่อขยายผลให้เกิดชุมชนที่พึ่งตนเองได้ โดยใช้บ้านเป็นเครื่องมือ รายละเอียดผมจะไม่กล่าวถึงมาก เอาเป็นว่า อาศรมมีกิจกรรมทำบ้านดินแล้วกัน

หลังจากเข้าไปคลุกคลีผมก็ได้มีโอกาสรับความรู้เรื่องการสร้างบ้านดิน แนวคิดต่าง ๆ โดยมีเพื่อนผมอีกคนเป็น staff อยู่ก่อนแล้ว
เพื่อนคนนี้ของผมชื่อต่าย (นามสมมติ) ชื่อจริงชื่อ "ราชบดินทร์" ต่ายเป็นเพื่อนที่คณะผมเอง แต่มาทำบ้านดินอยู่ก่อนแล้วโดยคำชวนของเอิร์ธ (อีกแล้ว)ผมเข้าใจว่าต่ายมาทำตรงนี้เนื่องจากเบื่องานออฟฟิศ
ผมควรบอกไว้ด้วยว่า ต่ายเป็นเพื่อนที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตผมเป็นอย่างทุกวันนี้ ผมและได้เรียนรู้อะไรจากต่ายมากมาย เรียกได้ว่าเป็นกัลยาณมิตรทางปัญญา (คำนี้ผมไม่ได้คิดเองนะ แต่ลอกมาจาก เวบล็อกอื่น เพราะเห็นว่าเท่ห์ดี)

มาที่บ้านดินต่อ
กิจกรรมบ้านดิน ในตอนนั้นเป็นที่ฮือฮามาก ได้รับความสนใจจากสื่อหลายแขนง ก่อตัวขึ้นในหมู่ชนชั้นกลาง มีอาจารย์ นักศึกษา หลายสถาบันมาดูงาน มาวิจัย ทั้งเรื่องการพัฒนาวัสดุ การประหยัดพลังงาน การพัฒนาระบบการก่อสร้างให้เป็นมาตรฐานขึ้น ฯลฯ ความนิยมของบ้านดินนี้ ส่วนหนึ่งสอดคล้องกับ วาทกรรม "ทางเลือก" ที่เป็นที่นิยมหรือเป็นกระแสขณะนั้น เช่นพวกอาหารชีวจิต ดนตรีนอกกระแส(แต่ไม่ใช่เด็กแนวนะ) ใจผมเองนั้นคิดว่า การพัฒนาเรื่องวัสดุหรือเรื่องพลังงานอะไรนั้นมันก็ฟังดูดีหรอก แต่สาระของบ้านดินมันอยู่ที่การสร้างบ้านด้วยมือตัวเองต่างหาก มันถึงได้ "สด" แบบในรูปข้างล่าง เพราะมันแทบจะไม่ได้แปรรูปอะไรเลย แค่นำดินไปตากแดด ก็เป็นวัสดุก่อผนังได้แล้ว แต่ถ้าวิทยาการพัฒนาคุณสมบัติด้านอื่นๆ ของบ้านดินทำให้เจ้าของบ้านต้องพึ่งคนอื่นมากขึ้น พึ่งกระบวนการผลิต พึ่งตลาด เสียแล้ว บ้านดินก็ทำหน้าที่ได้อย่างมากก็ป็นแค่วัสดุก่อสร้างที่ทำมาขายแข่งกับ อิฐบล็อก อิฐมอญ เท่านั้น

แต่ก็มีหลายคน เดินทางมาดูงานเพราะอยากบริโภคสัญญะ "ทางเลือก" กับเขาบ้าง ถึงขนาดจ้างคนในอาศรมไปสร้างบ้านด้วยดินให้เขาเลย ซึ่งก็ได้แต่ปฏิเสธไปว่าสอนให้น่ะได้ แต่ต้องสร้างเอง เพราะถ้าจ้างคนมาสร้างแค่เริ่มคิดก็ต้องพึ่งคนอื่นเสียแล้ว

แต่แล้วมัน (บ้านดิน) ก็หายไปจากความสนใจของชนชั้นกลางอย่างรวดเร็วเช่นกัน จนถึงตอนนี้ผมก็ไม่ได้ยินข่าวอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับบ้านดินอีกเลย (คงเพราะผมอยู่ต่างแดนด้วยมั้ง) ตอนนี้ถ้าเข้าใจไม่ผิดไม่น่าจะมีใครไปดูงานบ้านดินที่อาศรมมากมายนัก ผมคิดว่าดีแล้ว กิจกรรมบ้านดินที่อาศรมก็จะได้เน้นการออกไปสร้างชุมชนทางเลือกจริงๆ

ต่าย(นามสมมติ)ที่ง่วนอยู่กับการเป็นวิทยากรบ้านดินให้ชุมชนต่างๆ ตลอดจนการเขียนหนังสือคู่มือการสร้างบ้านดินอยู่พักใหญ่ ก็ได้อานิสงฆ์จากการทำชุมชนทางเลือก จนขณะนี้ไปสร้างชีวิตทางเลือกของตัวเอง โดยทำวนเกษตรเต็มตัวอยู่ที่เชียงใหม่ และออกไปจากระบบทุนนิยมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ (คิดว่าดำรงชีพด้วยระบบ Barter System คือแลกของกันใช้ ไม่ใช้เงินแล้ว) แต่ยังมาช่วยงานที่อาศรมอยู่เนืองๆ

ล่าสุดคือเมื่อปีที่แล้วผมได้มีโอกาสคุยโทรศัพท์ผ่านมือถือของเพื่อนต่ายอีกที(ต่ายเลิกใช้โทรศัพท์ด้วย)เพราะอยากคุยกับต่ายเนื่องด้วยผมคงไม่ได้อยู่เมืองไทยซักระยะ แต่แล้วเสียงปลายสายบอกกับผมว่า "ต่ายไม่อยู่ อยู่ที่นา มีอะไรด่วนรึป่าว จะได้บอกต่ายให้"

สิ้นบทสนทนา มันทำให้ผมมีความรู้สึกบรรยายไม่ถูก ได้แต่ยิ้มในใจลึกๆ
หวังว่า "บ้าน(ราชบ)ดิน(ทร์)" คงไม่หายไปจากพวกเราตลอดกาล


เอารูปการสร้างบ้านดินมาฝากด้วยครับ เทคนิคนี้เรียกว่า "Rattle and Darf" (หวังว่าสะกดไม่ผิดนะ)


รูปการทำบล็อกอิฐ (ดิน)

Wednesday, July 27, 2005

Field trip with AA

ผมควรสังวรณ์ว่าถ้าขืนผมเล่าเรื่องด้วยสปีดขนาดนี้ ผมคงมีแรงเขียนไม่นาน ต้องเลิกไปก่อนเวลาอันควร ผมจะลดความถี่ลงนะครับ พอดีช่วงนี้มันว่างๆ

เมื่อต้นปีผมได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาทางสถาปัตยกรรมกับ The Architectural Association (AA) หนึ่งในโรงเรียนสถาปัตยกรรมชื่อดังของโลก โดยคำเชิญชวนของน้องแป้ง (นามสมมติ) ที่ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ ผมก็ขอขอบคุณน้องแป้งไว้ ณ ที่นี้เลย เพราะถ้า AA ไม่จัดทัศนศึกษาในเยอรมันผมคงไม่ได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตา แต่เสียดายที่ผมมีเวลาน้อย จึงได้ร่วมทัศนศึกษาด้วยเพียงเมืองเดียวเท่านั้นคือ ที่ Stuttgart

แต่แค่นี้ก็เพียงพอแล้วเพราะเป็นที่ที่ตรงกับความสนใจผมอยู่แล้ว โดยผมมีความประทับใจอยู่สองอย่าง ภายหลังจากการทัศนศึกษาครั้งนี้ อย่างแรกก็คือ ผมได้มีโอกาสชมงานต้นแบบของ Frei Otto พ่อมดแห่ง Tensile Structure ที่ใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบสนามฟุตบอล Olympic stadium (แต่คนออกแบบอาคารหลังนี้คือ Gunter Behnisch หนึ่งในเจ้าพ่อ Deconstruction)ที่เมืองมิวนิก โดย Otto ได้สร้างอาคารขนาดเล็ก (จริงๆ ก็ไม่เล็กนะ) ในมหาวิทยาลัย Stutgart เพื่อศึกษาพฤติกรรมของโครงสร้างของ Cable ที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเปลี่ยนจุดรับแรงในรูปแบบต่างๆ อาคารต้นแบบของ Otto ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำงานของศาสตรจารย์ Soebeck (คือจริงๆ trip นี้จะมาดูงานตาคนนี้แหละแต่ผมพบว่างานที่ทำงานแกน่าสนใจกว่า) สิ่งที่น่าทึ่งคือ อาคารหลังนี้พาดช่วงกว้างกว่า 20 เมตร โดยใช้เสาเพียงต้นเดียว (แบบกระโจมน่ะครับ) และผมก็คิดในใจเมื่อเข้าไปภายในอาคารว่า "โห แม่งโคตรเดิ้นเลยว่ะ" ทั้งๆ ที่มันก็สร้างเสร็จมาแล้วตั้ง 30 ปี

ผมควรบอกไว้เป็นเกร็ดความรู้ว่า มหาวิทยาลัย Stuttgart จัดเป็นโรงเรียนสถาปัตยกรรมชั้นแนวหน้าของเยอรมันทางสถาปัตยกรรมสาย Avant-garde, Postmodern, Deconstructivist ซึ่งเป็นคู่กัดกับ TUM (Technical University of Munich) อีกหนึ่งในโรงเรียนสถาปัตยกรรมชั้นแนวหน้าที่สืบทอดปณิธานจาก Bauhaus มาอย่างเหนียวแน่น อันนี้นอกเรื่องนะครับ เล่าสู่กันฟัง

ความประทับใจอย่างที่สอง แบบประทับใจสุดๆ คือผมได้เห็น "Weissenhofsiedlung" กะตาตัวเอง ใครที่ไม่ทราบว่า มันคืออะไรเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังคร่าวๆ

ผมเองรู้จัก Weissenhofsiedlung มาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือแล้ว อาจเพราะผมชอบอ่านงานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเป็นพิเศษ เลยจำได้ว่ามันอยู่ในเยอรมัน และเป็นนิทรรศการการแสดงนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมที่ลือลั่นที่สุดในสมัยนั้น ถือเป็นรากฐานทั้งปวงของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเลยก็ว่าได้ เพราะหลายคนของผู้แสดงงานก็สอนอยู่ใน Bauhaus

Weissenhofsiedlung คือกลุ่มอาคารพักอาศัยสมัยโมเดิร์นสร้างราวทศวรรษที่ 30 ที่นำโดยสถาปนิกชื่อดัง Ludwig Mies van de Rohe ที่ต้องการสร้างกลุ่มอาคารพักอาศัยเพื่อประกาศการเข้าสู่ยุคโมเดิร์นทางสถาปัตยกรรม ที่เสาอาคารกับผนังไม่ต้องเดินคู่กันอีกแล้ว อีกทั้งเป็นการปฏิวัติความหมายของที่ว่างครั้งสำคัญ โดยงานนี้ Mies ได้เชิญสถาปนิกหัวก้าวหน้าจากทั่วยุโรปในสมัยนั้นมาร่วมออกแบบ ได้แก่ Le Corbusier (Charles A. Jeaneret), Peter Behrens, Walter Gropius, Hans Scharoun, ฯลฯ โดยในช่วงแรกจะจัดเป็นนิทรรศการให้คนดูด้วย เหมือนหนึ่งสะท้อนนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรม และภายหลังก็ขายให้คนได้เข้ามาอยู่จริง (ผมเพิ่งมาเห็น concept "House is a machine of living" ของ Corbu กับตานี่เอง)

แต่ปัจจุบันอาคารที่ออกแบบโดยสถาปนิกเยอรมัน ทั้งหมดถูกฮิตเลอร์รื้อทิ้งไปแล้ว เพราะรับไม่ได้กับอาคารที่ไม่มีหลังคาและไม่มีวัฒนธรรม (จากเหตุผลที่ฮิตเลอร์อ้าง)ถึงขนาดฮิตเลอร์จงเกลียดจงชังแนวความคิดนอกคอกแบบนี้มาก ถึงขนาดสั่งปิด Bauhaus จนเจ้าสำนักทั้งหลายต้องหนีไปอยู่สหรัฐอเมริกา (แต่ Mies van de Rohe ก็มาโด่งดังที่ IIT ภายหลัง) ปัจจุบัน Weissenhofsiedlung คงเหลือแต่งานของสถาปนิกต่างชาติ (โชคดียังเหลืองานของ Corbu)งานของสถาปนิกเยอรมันที่เหลือก็มีเพียงงานของ Mies van de Rohe หลังเดียวเท่านั้น

ทุกวันนี้ใน Weissenhofsiedlung ก็ยังมีคนอาศัยอยู่นะครับ แต่ก็มีการต่อเติมปรับเปลี่ยนการใช้งานไปบ้าง ข้างในอาคารหลายหลังก็ไม่ได้เหมือนกันตอนแรกที่สถาปนิกออกแบบไว้เท่าไหร่แล้ว

แต่สำหรับคอสถาปัตยกรรมโมเดิร์นแบบผมแล้ว พูดได้คำเดียวว่า "สุดยอดเลยครับพี่"


อันนี้ภาพถ่ายภายนอกต้นแบบของ Frei Otto ครับ


อันนี้ภายใน มีเสาต้นนี้ต้นเดียวแหละครับ


อีกรูป ข้างในกว้างมาก
อ่อ ลืมบอกว่า สมัยก่อนไม่มีคอมฯ ช่วยคำนวณเลยต้องสร้างต้นแบบ 1:1 น่ะครับ


เทียบกับ Olympic stadium ของจริง ที่ Behnisch ออกแบบ


อีกรูป มุมจากทางเข้าตัวกระโจม


Weissenhofsiedlung
หลังนี้ของ Mies เจ้าของวลีอมตะ "Less is More" สมัยยังไม่แปลงร่างเป็นกล่องกระจก
สำหรับผมชั่วโมงนี้ ต้องขอบอกว่า "เชยระเบิดเลยพี่ เหมือนแฟลตเคหะที่บ้านผมเลย" (แต่ประทับใจอยู่ดี) อย่างว่าครับ ต้นแบบของอาคารสมัยใหม่บ้านเรานี่เอง

งานของ Peter Behrens(เข้ารอบมาเพราะคนอื่นถอนตัว)คอนเซปต์ดีครับ แต่สังเกตหน้าต่าง ยังเป็นบล็อกๆ แบบ tradition อยู่เลย (ผมว่าดูแล้วก็เชยเหมือนกัน)คนอื่นเค้าทำ Ribbon window กันแล้ว

นี่สุดยอด ต้องอันนี้ครับ ของ Le Corbusier "House is a machine of living" ตัวจริง เอาแนวคิดมาจากตู้รถไฟ แถมด้วย Ribbon window อาคารเป็นเรื่อง System of Circulation and Space ล้วนๆ (แต่ไม่รู้ต้นแบบสีนี้หรือเปล่านะ)

Tuesday, July 26, 2005

สังคมความรู้แบบพี่น้องตระกูลกริมมส์

นิทานเด็กที่โด่งดังทั่วโลกของพี่น้องตระกูลกริมมส์ (Brother Grimms) คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยินหรือรู้จักผ่านหูมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ซินเดอเรลล่า หนูน้อยหมวกแดง สโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด หรือ Hansel and Gretel

เอาเข้าจริงๆแล้วอีตาพี่น้องสองคนนี่แกไม่ได้แต่งนิทานเลยซักเล่มนะครับ ผมมารู้ทีหลังตอนไปพิพิธภัณฑ์พี่น้องตระกูลกริมมส์ในเมืองที่ผมอยู่เนี่ยแหละ แถมคนญี่ปุ่นแห่มาเที่ยว จนขนาดต้องพิมพ์โบรชัวร์เป็นภาญี่ปุ่นเลยทีเดียว สิ่งที่แกสองคนทำคือแกเดินทางรวบรวมเรื่องเล่าพื้นบ้านที่ไม่ได้มีการบันทึกให้เป็นเรื่องเป็นราว จนมาเป็นเรื่องราวซะ หรือพูดง่ายๆ คือแกเป็นบรรณาธิการนั่นเอง ไม่ได้แต่งนิทานอะไรนั่นหรอกครับ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแกเป็นหนึ่งในคนสถาปนาความรู้ว่าด้วยเรื่องนิทานเด็กขึ้นมาเหมือนกัน (การรวมรวมความรู้ที่มีอยู่แล้วถือเป็นการสร้างองค์ความรู้แบบหนึ่ง) อันที่จริงผมก็ไม่ได้รังเกียจการสร้างความรู้แบบนี้หรอกนะครับ เพราะความรู้หลายๆ อย่างในโลกก็ได้มาด้วยวิธีนี้ทั้งนั้น เช่น (จากการที่ได้คุยกับเพื่อนชาวโคลัมเบีย)ตำราพฤกษศาสตร์พื้นเมืองในโคลัมเบีย ก็ได้จากการไปถามเอาความรู้เรื่องพืช สมุนไพร จากคนเผ่าต่างๆ จนรวบรวมเป็นองค์ความรู้ชุดหนึ่ง

หนำซ้ำผมก็เห็นว่าดีเสียอีกที่มีคนอย่างพี่น้องตระกูลกริมมส์ เพราะถ้าไม่มีแกแล้วเด็กๆ คงไม่มีนิทานดีๆ อ่านกันอย่างกว้างขวางทุกวันนี้ ก็คงเป็นเรื่องเล่ากันแคบๆ ต่อไปเฉพาะถิ่นเท่านั้น แต่ที่ผมคิดก็คือว่า แหม!! มันช่างเหมือนกันกับเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญาเสียนี่กระไร

ในสังคมสมัยพี่น้องตระกูลกริมมส์ที่ยังไม่มีเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญา เรื่องแบบนี้เป็นการสร้างความรู้ให้เป็นระบบหรืออย่างน้อยก็เป็นการจัดเรียงข้อมูลให้เป็นระบบ ผมหมายถึงความรู้มันมีอยู่แล้ว การจัดการความรู้ให้มีประสิทธิภาพย่อมทำให้ความรู้กระจายในวงกว้าง และก็เกิดประโยชน์ให้คนอื่นเอาไปใช้พัฒนาชีวิตได้อย่างเต็มคนบ้าง

ในทางกลับกัน ด้วยวิธิคิดอย่างเดียวกัน แต่เปลี่ยนเป็นเงื่อนไขปัจจุบัน เรื่องมันก็เป็นอย่างที่รู้กันว่าทุกวันนี้ถ้าเราปลูกข้าวหอมมะลิอยู่ดีๆ สักวันหนึ่งคงมีคนมาฟ้องร้องเราได้ ฐานละเมิดลิขสิทธิ์พันธุ์ข้าว ทั้งๆที่ความรู้เรื่องพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมันก็มีอยู่แล้ว ปู่ย่าตายายก็ปลูกมาตั้งนาน แต่อย่างว่าและครับ ดันไม่สถาปนาความรู้ให้เป็นของตัว เลยโดนคนอื่นฉกเอาไปซะ กลายเป็นเรื่องใครมาก่อนมีสิทธิ์ก่อนไปเสียนี่ สมัยที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา อเมริกาก็เป็นทรัพยากรของอังกฤษเหมือนกัน ด้วยวิธีคิดเดียวกันคือถึงก่อนมีสิทธิ์ก่อน

ความรู้ก็คือสินค้าครับ หรืออย่างน้อยก็ถูกทำให้เป็นสินค้าซะแล้ว เหมือนกับวัฒนธรรม (เพลง ตลาดน้ำ มวยไทย ฯลฯ)ขณะเดียวกันความรู้ก็คือทรัพยากรด้วย ผมทึกทักเอาเองว่า ถ้าเราเปรียบการพัฒนาเหมือนการวิ่ง โดยมีความรู้เป็นปลายทางแล้ว คนที่ถึงก่อนเนี่ยถ้าวิ่งแข่งกันใหม่มันก็ถึงก่อนทุกเรื่อง เพราะผมทึกทักเอาเองว่ามันเหมือนตอนแรกเราวิ่งแข่งไปเอาจักรยาน แล้วถ้าผมแพ้แล้วให้วิ่งแข่งใหม่ไปเอารถยนต์ คิดว่าหมอนั่นมันจะยอมทิ้งจักรยานมาวิ่งตัวเปล่าๆ กับผมเหรอ มันก็ต้องขี่จักรยานไปเอาอยู่แล้ว ส่วนผมก็วิ่งลิ้นห้อยไปเถอะ ความรู้มันก็เหมือนจักรยานแหละครับ แล้วโอกาสที่ผมจะได้จักรยานนั้นมีได้ก็ต่อเมื่อ หมอนั่นมันโดดไปขี่รถเก๋งเสียแล้ว

ผมสงสัยแค่ว่าถ้าผมอยากเป็นคนที่เต็มคนบ้าง แล้วเกิดขาสั้นวิ่งไม่ทันเขา ผมจะยังพอจะยังหวังได้ว่าพอมีสังคมความรู้แบบพี่น้องตระกูลกริมมส์หลงเหลืออยู่มั้ย ในขณะที่สังคมวันนี่นั้นความรู้เป็นทรัพยากร ถ้าความรู้เป็นทรัพยากรก็แปลว่า ไม่ใช่ทุกคนนะครับจะเข้าถึงได้

สุดท้ายก็ได้แต่พูดกับตัวเองว่า "เออ ฝันไปเหอะมึง"

Sunday, July 24, 2005

ธิดาสวนแตงเมืองฝรั่ง

Herzlich Wilkommen,
Heute haben wir die neue Kirschenkönigin, "Jenifer die Erste" (เจนนิเฟอร์ที่หนึ่ง)

เมื่อสิ้นคำประกาศของโฆษกงานประกวดธิดาสวนเชอรี่ แห่งเมือง Witzenhausen ที่จัดเป็นประจำทุกปีจนย่างเข้าสู่ปีที่ 39 ในปีนี้แล้ว "Katharina die Zweite" หรือ คาธารีน่าที่สอง ธิดาสวนเชอรี่ของปีที่แล้ว ถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาอย่างกลั้นไว้ไม่อยู่ ในอันที่เธอจะต้องอำลาจากความเป็นตัวแทนเมืองของเธอในการประชาสัมพันธ์ความอร่อยของเชอรี่จากบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ

ครับ!! ที่ผมเกริ่นมามันก็คืองานเทศกาลผลไม้ประจำปีของเมือง Witzenhausen ซึ่งเมืองนี้เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในการปลูกเชอรี่ว่ามีรสชาติดีมาก (ผมชิมแล้วก็อร่อยดีนะ) และไอ้การประกวดนางงามที่ว่ามันก็คือๆ กันกับการประกวดนางงามสวนลิ้นจี่หรือสวนแตงบ้านเราดีๆ นี่เอง หน้าที่หลักของธิดาสวนเชอรี่ก็คือการออกไปประชาสัมพันธ์เชอรี่ของเมืองให้เป็นที่รู้จัก

ด้วยความที่คุ้นเคยกับการประกวดนางงามแบบไทยๆ มานาน แวบแรกที่ผมคิดก็คือ "ทำไมฝรั่งมันตอแหลอย่างงี้(วะ) กะอีแค่ประกวดนางงามผลไม้นี่ต้องถึงขนาดร้องไห้เลยหรือ ถ้าได้เป็นนางงามจักรวาลมันไม่ต้องหามส่งโรงพยาบาลเลยหรือไง" โดยผมมารู้ภายหลังว่า เค้าจัดกันมายาวนานแล้ว ถึงขนาดคนออกมาดูกันทั้งเมือง หรือจะเรียกว่าเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่หน่อยก็คงไม่ผิดนัก(เมืองนี่ส่วนมากเป็นคนแก่นะครับ) และคนต่างชาติอย่างผมก็จัดเป็นตัวประหลาดในงานอยู่พอสมควร ด้วยที่ว่าไม่มีนักท่องเที่ยวที่ไหน โผล่หัวเข้าไป เพราะมันไม่มีอะไรให้ดูมากมายนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ผู้ประกวดจะต้องมีคุณสมบัติที่เป็นชาวเมือง Witzenhausen โดยกำเนิด แปลว่า ทะเร่อทะร่ามาประกวดนี่ไม่ได้นะครับ เพราะเค้าจะรู้ดีว่าลูกเต้าเหล่าใคร และผู้ชนะจะได้รับการแห่ล่องเรือมาตามน้ำก่อนจะมาขึ้นโชว์ตัวที่จัดโดยเทศบาล รางวัลของผู้ชนะก็ได้แก่ ล็อกเก็ตห้อยคอทองคำแท้อันเล็กที่เป็นรูปพวงเชอรี่ แล้วก็บัตรพักโรงแรมฟรีทั้งปี (ในกรณีที่ต้องไปประชาสัมพันธ์ผลผลิตภายนอกเมือง) ก็เท่านั้นเองครับ

พอรู้เรื่องอย่างนี้แล้ว สำหรับผมแล้ว ธิดาสวนแตงเมืองฝรั่งจะสวยหรือไม่คงไม่สำคัญแล้ว แต่ทำให้ผมได้เข้าใจขึ้นมาอีกนิดว่า ไอ้การเป็นตัวแทนชุมชนในการบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างที่เป็นความภาคภูมิใจของชุมชนที่ตนสังกัดอยู่นั้น ตลอดจนประสบการณ์ที่เธอได้รับในหนึ่งปีของการทำหน้าที่มันถึงได้ทำให้เธอกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

ผมไม่มีข้อมูลเรื่องการประกวดธิดาสวนแตงบ้านเรา เพราะไม่เคยไปดูกับตาตัวเอง แต่ถ้าเข้าใจไม่ผิดผมเข้าใจว่าการประกวดนางงามในบ้านเราที่นับวันจะเป็นเรื่องพานิชไปหมดแล้ว ก็รางวัลมันออกจะล่อใจนี่ครับ ใครล่ะไม่อยากได้ (แต่อย่าลืมนะครับว่าค่าของรางวัลนั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเสมอ ไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม) และผมก็ไม่กล้าคิดไปไกลกว่านั้นว่านางงามสวนลิ้นจี่บ้านเรานั้น จะเคยปลูกหรือรู้จักพันธ์ลิ้นจี่เป็นอย่างดีพอที่จะประชาสัมพันธ์ให้คนสนใจ หรือไม่ มิพักพูดถึงการประกวดธิดาตัวแทนสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สบู่ ยาสระผม หรือนิตยสาร ที่มีกันอยู่ทุกวี่วัน

ความสามารถในการพรากเอาคนออกจากชุมชนหรือเครือข่ายทางสังคมอันนี้ ส่งผลให้การประกวดไม่ต้องมีบริบทใดๆ มารองรับ จะจัดถี่แค่ไหน ต่างกรรมต่างวาระยังไง ในโอกาสอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น เพราะไม่จำเป็นต้องรู้หรือสนใจว่าใครเป็นใครอีกแล้ว

เรื่องการประกวดนี้ผมพูดได้เต็มปากเลยว่าเราเดินมาไกลกว่าฝรั่งหลายขุมนักครับ!!!!

KZ-Dachau

"Dachau - the significance of this name will never be erased from German history. It stands for all concentration camps which the Nazis established in their territory."

..Eugen Kogon..

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1933 Heinrich Himmler ได้สั่งให้สร้างค่ายกักกันขึ้นที่เมือง Dachau และนั่นคือจุดกำเนิดของโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ

ปีนี้เป็นปีที่ในเยอรมันพูดถึงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองกันมากที่สุดปีหนึ่ง เนื่องจากเป็นปีครบรอบ 60 ปีแห่งการปลดปล่อยค่ายนักโทษทางการเมืองแห่งนี้

ค่าย'ดาเคา' (Dachau concentration camp)อาจถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของพรรคนาซี และเป็นต้นแบบของค่ายกักกันชาวยิวที่น่าสยดสยองทั่วโลก โดยเฉพาะ 'ห้องรมแก๊ส' (Gas chamber)ที่สังหารหมู่ชาวยิวไปกว่า 6 ล้านคนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อแรกเริ่มนั้นสมัยที่ฮิตเลอร์ เรืองอำนาจในช่วงต้นๆ ค่ายนี้ถูกสร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สองประการ ประการแรกคือเป็นที่คุมขังนักโทษทางการเมืองที่มีความเห็นขัดแย้งกับพรรคนาซี และ ประการที่สองใช้เป็นโรงเรียนที่ฝึกหน่วยสังหาร 'SS' (Schutzstaffe)ที่เป็นหน่วยทางหารที่ขึ้นตรงต่อฮิตเลอร์ และมีส่วนสำคัญในแผนการรักษาอำนาจของอาณาจักรไรซ์ที่สาม ไม่ว่าจะเป็นการลอบสังหาร การให้ร้ายศัตรูทางการเมือง การสร้างสถานการณ์และปูทางสู่อำนาจที่ชอบธรรมต่อพรรคนาซี

นาซีได้สร้างค่ายกักกันชาวยิวขึ้น โดยใช้ค่าย 'ดาเคา' แห่งนี้เป็นต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็น แผนผังเรือนนักโทษ ศุนย์บัญชาการค่าย ตลอดจนถึงห้องรมแก๊ส ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วยุโรปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะที่ ค่าย 'เอ้าสวิช'(Austwitzch) ในโปแลนด์ นับเป็นค่ายที่ใหญ่ที่สุด ที่ชาวยิวจำนวนกว่า 2 ล้านคนถูกสังหารหมู่ (Genocide) อาจกล่าวได้ว่าค่ายกักกัน ใช้เป็นตัวชี้วัดอย่างดีถึงความสำเร็จในการแผ่อำนาจของพรรคนาซีในสมัยนั้น

พรรคนาซีปิดหูปิดตาคนเยอรมันไม่ให้รู้ถึงการกระทำอันโหดร้ายของตนเอง ยิ่งห่างจากเยอรมันเท่าไหร่ ความโหดร้ายของค่ายกักกันก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นในค่ายแห่งนี้ตลอดจนค่ายอื่นๆในเยอรมันนี้จึงไม่มีการสังหารหมู่ ใช้เพียงคุมขังนักโทษทางการเมืองเท่านั้น ภายหลังเมื่อเยอรมันพ่ายแพ้สงครามโลก ค่ายกักกันทั่วโลกจึงได้ทยอยปลดปล่อย

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 1945 ค่ายกักกัน ณ เมือง Dachau ได้รับการปลดปล่อยโดยกองกำลังพันธมิตร และเป็นอันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองลง

Lanna-Bayern

ผมเพิ่งทราบตอนที่มาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ ว่าเยอรมันในปัจจุบันนี้นั้น เมื่อแต่เดิมประกอบขึ้นด้วยอาณาจักรสองอาณาจักรเป็นอย่างน้อย คืออาณาจักรปรัสเซียที่มีศูนย์กลางที่มหานครเบอร์ลินในปัจจุบัน และอาณาจักรบาเยิร์น (บาวาเรีย) ที่มีศุนย์กลางที่เมืองมิวนิก รัฐบาเยิร์นทางตอนใต้ของเยอรมัน แต่เดิมนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้นะครับ เดิมทีเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 บาเยิร์นเป็นอาณาจักรอิสระที่มีกษัตริย์เป็นของตนเอง ที่รุ่งรืองถึงขีดสุดสมัย บาโรค-ร็อคโกโก ที่มีสายสัมพันธ์ค่อนข้างจะแนบแน่นกับราชวงศ์ทางออสเตรีย-ฮังการี แต่ก็ได้ถูกรวมชาติเป็นเยอรมันในภายหลัง ในสมัยของบิสมาร์ค เมื่อเยอรมันได้สิ้นสุดการปกครองโดยกษัตริย์ลง

รัฐบาเยิร์นมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นของตนเอง ทั้งทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม อาจกล่าวได้ว่าถึงแม้จะรวมเป็นชาติเยอรมันแล้ว แต่ลึกๆ คนบาเยิร์นจะภูมิใจในความเป็นบาเยิร์นของเค้ามากๆ เช่นมี เบียร์อันโด่งดังของแคว้น (Paulaner) งานเทศกาลเบียร์ Oktoberfest มีรถยนต์ที่ผลิตเอง ที่เอาธงของรัฐเป็นโลโก้ (BMW = Bavaria Motor Works)มีทีมฟุตบอลชื่อดัง (Bayern Munich)ตลอดถึงความที่เคยมีกษัตริย์ของตนเอง เป็นต้น

สิ่งนี้ทำให้ผมคิดถึงความคล้ายคลึงอย่างหนึ่งทำนองนี้ในบ้านเรา (แต่ไม่ได้หมายถึงความคล้ายทางภูมิศาสตร์)นั่นคือ อาณาจักรล้านนาที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แตกต่างจากอาณาจักรปรัสเซียแบบไทยๆ (อยุธยา-รัตนโกสินทร์)ที่ล้านนาเองก็มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับอาณาจักรทางเหนือ ก่อนที่จะถูกรวมเป็นสยามประเทศอย่างในปัจจุบัน และเมืองเชียงใหม่เองอาจเทียบเคียงได้กับเมืองมิวนิกในฐานะที่เป็นเมืองหลวงรัฐแป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ สิ่งที่สะท้อนใจผมมากๆ คือ ในขณะที่บาเยิร์น-มิวนิกพัฒนาเมืองโดยรักษาฐานทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรม ศิลปะ ผู้คนเป็นของตนเองขึ้นมาได้ ในขณะที่ล้านนากำลังจะรับเอาวาทกรรมการพัฒนาจากส่วนกลางมาทั้งดุ้น เช่น โครงการทางด่วนที่ลอกแบบความล้มเหลวมาจาก กทม หรือความอ่อนแอของท้องถิ่นที่ไม่อาจผสานรากตัวเองควบคู่ไปกับการพัฒนาได้

ก่อนตายผมจะได้เห็นรถรางวิ่งในเชียงใหม่ แทนที่จะเป็นตอม่อทางด่วนไหมหนอ!!!

Saturday, July 23, 2005

รั้ว

รั้วนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมเองก็ไม่เคยนึกสังเกตเป็นเรื่องเป็นราว โดยเข้าใจเอาเองว่าสังคมสมัยก่อนนั้นไม่น่าจะมี ถึงมีก็ไม่ใช่รั้วในแบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ จะมีก็แต่รั้ว(กำแพงเมือง)ที่เอาไว้ป้องกันการรุกรานจากอริราชศัตรูเท่านั้น เข้าใจว่าในสมัยก่อนหน้าที่ของรั้วนั้นเป็นการป้องกันภัยจากศัตรูภายนอก หาได้บอกถึงอาณาเขตการครอบครองการใช้พื้นที่อย่างความหมายของรั้วในปัจจุบัน เมื่อครั้นเราเดินทางไปยังสังคมชนบทก็พบว่ารั้วของเขานั้นมีความแตกต่างกันกับรั้วของคนในเมือง ต่างกันทั้งในทางกายภาพและทางสังคม คือรั้วของเขานั้นเป็นรั้วเตี้ย ที่มีหน้าที่เพื่อบอกเขตการครอบครองพื้นที่ของตน ในขณะที่รั้วของคนเมืองนั้น นอกจากจะบอกการครอบครองที่ว่าแล้ว ยังมีหน้าที่เช่นเดียวกับ รั้ว (กำแพงเมือง)ในสมัยก่อน คือไว้ป้องกันศัตรู (ขโมย)นั่นเอง

มีข้อสังเกตว่า เราสามารถอ่านความสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ ผ่านรั้วได้ ในขณะที่ รั้วในเมืองบอกถึงความไม่สัมพันธ์ใดๆ ของ ครอบครัวหนึ่งกับครอบครัวอื่น แต่สื่อสารสถานภาพของตนเอง ผ่านรั้ว เช่น ถ้ามีรั้วใหญ่ สูง ก็แสดงถึงความมีฐานะ แต่รั้วของคนในชนบท กลับแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่กว้างขวางออกไปจากความสัมพันธ์กันเองในครอบครัว เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางตรงของคนในชุมชนหรือสังคมที่มากกว่าคนในเมือง เพียงแต่สถานะทางสังคมอาจสื่อสารผ่านสิ่งอื่น เช่น มอเตอร์ไซต์ DVD หรือ การส่งบุตรหลานไปเรียนกรุงเทพฯ เป็นต้น


ผมเข้าใจว่าลักษณะของรั้วเป็นผลมาจากรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมในประชาคมหนึ่งๆ เช่นเนื่องจาก กลัวโดนปล้นบ้าน เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบหนึ่ง ก็เกิดมาจากการมีรั้วเช่นกัน แต่อาจไม่กว้างขวางนัก เช่น เราอาจอยากรู้จักเพื่อนบ้าน แต่ด้วยอำนาจของรั้วก็ทำให้พาลไม่อยากรู้ไปซะ หรือกล่าวคือ รั้วอาจเป็นทั้งเงื่อนไขและผลิตผลของการผลิตความสัมพันธ์ทางสังคมในเวลาเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ เป็นไปได้ไหมที่ คนเมืองสามารถจะสามารถอยู่ได้โดยปราศจากความสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ กับสังคมรอบตัว ในขณะที่สังคมชนบนนั้นทำได้ยากลำบากกว่า เพราะทรัพยากรจำกัด

และเนื่องจากความสามารถในการแก้ปัญหาของคนเมืองปัจจุบันใช้ผ่านระบบ ‘เงินตรา’ เท่านั้น เมื่อมีเงินความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็ไม่ใคร่จะจำเป็นนัก สุดท้ายเราก็ต้องขยันสร้างรั้วกันต่อไป

Monday, July 18, 2005

Introduction

19.07.05
Welcome to post-metropolis
I aim this space to mirror my self, to communicate the isolated world, to share issues of everyaday life and to improve my writing skill.

Neither begin nor end.

Thanks again to Saranont who encourages me to create the weblog.