Tuesday, January 31, 2006

Happy Chinese New Year


ซิ่น เหนียน ไคว่ เล่อ... กง สี ฝ้า ฉาย.....
แปลคร่าวๆ ได้ว่า Happy New Year ขอให้รวยๆ

เป็นคำทักทายที่ผมได้ยินทุกวันระหว่างตรุษจีน 4 วันของผมที่สิงคโปร์ อันที่จริงนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้มีโอกาสฉลองตรุษจีนกับญาติฝ่ายพ่อ (เคยแต่ไปมาหาสู่กันเฉยๆ) เนื่องจากญาติทางพ่อผมอยู่ที่นู่นกันหมด ยกเว้นพ่อผมคนเดียวที่แทบจะกลายเป็นคนไทยไปแล้ว

ผมเพิ่งรู้ก็ตอนไปคราวนี้เองว่าปีใหม่ของคนจีนที่นั่นนั้น หมดเวลาไปกับการพบญาติ แล้วก็ กินๆๆๆๆ ลูกเดียว ก็ญาติหน้าเดิมแหละครับ เพียงแต่เปลี่ยนไปกินบ้าน ป้าบ้าง ลุงบ้าง แล้วก็เล่นไพ่นกกระจอกกันทั้งวัน เดาว่าคงเหมือนคริสต์มาสของฝรั่งที่ครอบครัวจะได้พบหน้ากันที่ปีละหน

อีกอย่างที่ผมงงๆ คือ ผมได้อั่งเปากับเขาด้วย ไม่ได้พิมพ์ผิดครับ อายุขนาดนี้ยังทะลึ่งได้อั่งเปา เพราะที่นั่นเค้าให้ลูกหลานที่ยังไม่มีครอบครัว (ถ้าอายุ 40 แล้วยังไม่แต่งงานก็ยังได้อั่งเปาอยู่) แต่ถ้ามีครอบครัวแล้วต้องเป็นฝ่ายให้ ซึ่งต่างกับบ้านเราที่ทำงานเมื่อไหร่ต้องเป็นฝ่ายให้ทันที



เอารูปมาฝากด้วยครับ China Town บ้านเค้า




Wednesday, January 25, 2006

ตลาดน้ำอัมพวา

ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวเล่น แถวคลองอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อราว 2 เดือนก่อน เพราะเนื่องจากต้องพาชาวบ้านไปดูวิถีชิวิตและรูปแบบการตั้งถิ่นฐานริมคลอง เพื่อให้พวกเขาเกิดไอเดียในการอยู่อาศัยร่วมกันกับน้ำ เพราะชาวบ้านแถวที่ผมทำโปรเจคอยู่นั้นชอบคิดว่าแบบบ้านจัดสรรที่เห็นเกลื่อนกลาดตามแม็คกาซีน เป็นความดีและความงามอยู่ในตัวเองแล้ว

ผมนั้นได้ยินเรื่องสถาปัตยกรรมริมน้ำและการกลับมาของตลาดน้ำแบบแท้ๆ (ที่ไม่ใช่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก) ที่หากมีคนถามว่าจะดูตลาดน้ำที่เป็นวิถีชิวิตริมคลองจริงๆ แล้วจะหาดูได้ที่ไหน เค้าบอกกันเป็นเสียงเดียวกันว่าให้ไปดูที่คลองอัมพวา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ การเข้ามาบูรณะอาคารริมน้ำบางหลังของ UNESCO

อันที่จริงตลาดน้ำอัมพวากลับมาคึกคักนั้นก็เพราะเป็นการท่องเที่ยว ที่เรียกว่ากลับมานั้นเพราะเมื่อก่อนมันคึกคักจริงๆ เนื่องจากเป็นชุมทางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่าง บางกอก กับราชบุรีและเพชรบุรี แต่เมื่อมีถนนตัดผ่านชุมชนริมน้ำก็ตายไปด้วยเพราะไม่มีใครใช้เรือค้าขายแล้ว

การกลับมาของอัมพวาไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติแน่ๆ หากแต่เพราะการนิยามความหมายเรื่องวัฒนธรรมชุมชนใส่ไปพร้อมกับวิถีชีวิตบางอย่างที่คนเมืองไม่ค่อยจะได้เห็นแล้ว เช่น บรรยากาศการขายของริมน้ำ การดูหิ่งห้อย (ที่เสียค่าเรือไปดูแบบเหมาลำละ 600 บาท)

ภายใต้วาทกรรมการท่องเที่ยวผมว่าไม่ทำให้อะไรเป็นของแท้ไปได้ ทำได้แค่พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตเท่านั้น อันที่จริงจะแท้หรือไม่ ผมก็ว่าไม่ค่อยจะสลักสำคัญเท่าไรนัก ผมคิดว่ามันสำคัญที่ชาวบ้านอยากได้หรือไม่ต่างหาก

ส่วนตัวผมว่าเขาอยากได้เพราะว่ามันทำให้เศรษฐกิจแถวนี้สะพัด ได้ข่าวว่าหลายบ้านเริ่มกลับมาต่อเรือเอาของไปขายบ้างแล้ว บ้างก็เอาไปนำเที่ยวตามคลองก็มี

อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวนั้นเป็นแฟชั่นกลายๆ หมายความว่าพึ่งพิงเม็ดเงินจากภายนอกเกินไป สิ่งที่ผมอยากเห็นมากกว่าคือคนอัมพวาที่ซื้อขายของกันริมน้ำจริงๆ ที่มีปริมาณไม่ต้องมากแต่หล่อเลี้ยงชีวิตในชุมชนได้ เมื่อยามที่กระแสการท่องเที่ยวจากไปจะได้ไม่เอาเรือไปเผาถ่านขายอีก

พี่ปื้ด (นามสมมติ) บอกผมว่า ชาวบ้านร่ำๆ จะตัดต้นลำพูที่มีหิ่งห้อยมาบินวนมากมายแล้ว เพราะว่า เบื่อนักท่องเที่ยวที่ชอบมาดูหิ่งห้อยหน้าบ้านทุกวัน

“หนวกหูโว้ย..............กูจะนอน”