Thursday, June 07, 2007

Aesthetic of gravity

เรียบเรียงจาก Pierre von Meiss (2000), The Aesthetic of Gravity, Architectural Research Quarterly; Volume 4 /NO.3, London: Cambridge Press


แรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วงนับว่าเป็นประสบการณ์พื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งของการรับรู้ของมนุษย์ เราเคยเห็นวัตถุต่างๆ ตกลงสู่พื้นโลกนับครั้งไม่ถ้วน, การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งบนโลกล้วนแล้วเกี่ยวกันอย่างใกล้ชิดกับแรงโน้มถ่ง เช่น การลอยของบอลลูน, น้ำตก หรือแม้แต่ความใฝ่ฝันของเด็ก ๆ ที่อยากจะบินได้เหมือนนก ก็ล้วนแต่เชื่อมโยงก้บเรื่องแรงโน้มถ่วงและการต้านแรงโน้มถ่วงทั้งสิ้น สตาโรบินสกี้ (Starobinski) ได้กล่าวไว้ใน “The dazzle of lightness or the clowns’ triumph” ว่า ตัวตลกในคณะละครสัตว์นั้น เป็นตัวอย่างของสร้างสุนทรียภาพโดยการเล่นกับกฎของแรงโน้มถ่วง เขาสามารถไต่ขึ้นบนกำแพงที่มองไม่เห็น เขาสามารถเดินกลับหัวอยู่บนฝ้าเพดาน เป็นต้น ประสบการณ์เหล่านี้เป็นสุนทรียภาพที่เกิดขึ้นจากการท้าทายแรงโน้มถ่วง

ความสำนึกในเริ่องการมีอยู่ของแรงโน้มถ่วงและแรงต้านแรงโน้มถ่วงได้ฝังรากลึกลงในจิตใจของมนุษย์เรามานานแล้ว ซึ่งมีอยู่ 4 ทางด้วยกันที่เกี่ยวข้องกับสถาปนิกและวิศวกรในประเด็นของแรงโน้มถ่วงและสภาวะไร้น้ำหนักกับงานสถาปัตยกรรม ได้แก่ การสร้างอาคารให้ดูแข็งแรง ถาวร การสร้างความมั่นคง ความสง่างามโดยใช้วัสดุให้น้อย และการสร้างความไม่สมดุลเพื่อสร้างสมดุลใหม่ การอ้างอิงถึงแรงโน้มถ่วงในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของแนวคิดมากกว่าเหตุผลและตรรกะทางโครงสร้าง

การสร้างอาคารให้ดูแข็งแรง มั่นคง
คุณสมบัติอันนี้สามารถทำได้โดยอาศัยความหนักและบางทีทำให้มีขนาดใหญ่ เช่น การวางคานและโวลท์ (Vault) อย่างมั่นคงบนผนังทึบหรือเสาโครงสร้าง การเผยให้เห็นเสาเอ็นและทับหลังของช่องเปิดแทนที่จะปิดบัง เป็นต้น ซึ่งสถาปัตยกรรมในอดีต เช่น สถาปัตยกรรมอียิปต์ หรือ โรมัน
ก็ได้ตระหนักถึงการนำเรื่องการรับรู้เรื่งแรงโน้มถ่วงมาสร้างสุนทรียภาพ

การแปลความหมายเรื่องแรงโน้มถ่วงเพื่อความงามทางสถาปัตยกรรม ถ้ามองย้อนไปในสถาปัตยกรรมยุคคลาสสิค (Classic) ไม่ว่าจะเป็น เสาคาน เครื่องยอด (Entablature) เส้นตั้ง หรือ เส้นนอน จะมีการเน้นให้เห็นอย่างชัดเจน สถาปัตยกรรมในยุดนี้ทำไม่ได้เลียนแบบธรรมชาติ หากแต่สะท้อนถึงเนื้อแท้ของธรรมชาติ แสดงออกโดยไม่ดัดจริตหรือบิดเบือน ซึ่งสถาปนิกในศตวรรษที่ 20 มีน้อยเลือกที่จะแสดงออกความคิดอันนี้ในงานสถาปัตยกรรม อันเนื่องมาจากการแทนที่ของเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ก็ยังมีงานของ Louis Kahn ที่มีพื้นฐานความสำนึกในเรื่องความถาวร แข็งแรง (Solidity and Massivity) ในงานสถาปัตยกรรม

การสร้างความสง่างามโดยใช้วัสดุให้น้อย
คุณสมบัติอันนี้สามารถเข้าใจได้โดยหลักเหตุผลของแรง เหมือนแรงที่ถ่ายทอดจากใบผ่านกิ่งก้านสาขา มายังลำต้นจนถึงราก ของต้นไม้ และทำให้ต้นไม้ต้นหนึ่งตั้งอยู่ได้ ตัวอย่างอื่นๆ ได้แก่ โครงสร้างเปลือกบาง (Thin Shells) ribs และ flying buttress ในงานสถาปัตยกรรมโกธิค (Gothic) โครงสร้างเหล็ก คสล. และเคบิล (Cable) ในงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ จนถึง ribbed slab, โดม (Dome) และ mushrooms ของ Pier Luigi Nervi และ Geodesic Dome ของ Buckminster Fuller โครงสร้างเหล่านี้จะค่อยๆพัฒนาโดยจะใช้วัสดุน้อยลง ในขณะที่มีความแข็งแรงมากขึ้น

การสร้างความไม่สมดุลเพื่อสร้างสมดุลใหม่
ประเด็นนี้จะกล่าวถึงการสร้างความประหลาดใจให้เกิดขึ้นกับงานสถาปัตยกรรมโดยเล่นกับน้ำหนักของวัตถุ กล่าวคือการทำให้วัตถุดูเสมือนไร้น้ำหนัก ตัวอย่างเช่น งานประติมากรรมของ Santiago Calatrava
ที่แสดงออกถึงความเคลื่อนไหว โดยใช้โดยใช้โครงสร้างรับแรงดึงผสมผสานกันกับเสาที่เอียง โดยมองไม่เห็นจุดรับน้ำหนักของวัตถุที่ถ่ายลงบนเสา ทำให้เกิดผลทางความรู้สึกว่า “วัตถุนั้นตั้งอยู่ได้อย่างไร” ซึ่งงานลักษณะนี้จะพบได้ทั่วไปในงานสถาปัตยกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่สมัยใหม่ ในขณะที่แทบจะไม่พบเห็นในธรรมชาติหรือสถาปัตยกรรมในอดีตเลย

การอ้างอิงถึงแรงโน้มถ่วงในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของแนวคิดมากกว่าเหตุผลและตรรกะทางโครงสร้าง
สำหรับสถาปนิกส่วนมาก การแสดงออกในเรื่องของน้ำหนักและการถ่ายแรงที่แท้จริงตามโครงสร้าง (Reality Weight) ดูเหมือนจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการออกแบบมากนัก หากแต่สำนึกเรื่องแรงโน้มถ่วงนั้นสัมพันธ์กันกับน้ำหนักและการถ่ายแรงด้วยสายตา (Visual Weight) มากกว่า ซึ่งที่จริงแล้ว Reality Weight และ Visual Weight ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกันเสมอไป (Arheim, 1997) ปัจจัยที่มีผลต่อความรู้สึกในเรื่องของน้ำหนักหรือความหนักมีอยู่ 3 สิ่ง ได้แก่
  • ระยะทาง ระหว่างตัววัตถุนั้นกับพื้นดิน หรือตัววัตถุนั้นกับวัตถุที่อยู่รอบๆ
  • การถ่ายน้ำหนัก ในแง่ของการมองที่มวลวัตถุและการถ่ายน้ำหนักของวัตถุจากตัววัตถุลงสู่พื้นดิน
  • พลังงานศักย์ หรือความรู้สึกถึงความเร่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าวัตถุตกลงสู่พื้นดิน


ในอดีต งานสถาปัตยกรรมยุคคลาสสิคได้ให้หลักการออกแบบสถาปัตยกรรมไว้ว่า อาคารที่ดีควรประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน (Tripatition) คือส่วนฐาน ส่วนลำตัว และส่วนยอด ในส่วนขององค์ประกอบแนวตั้งทาง façade นั้น บอกหมายความหมายให้รู้สึกว่าอาคารควรจะมีฐานเพื่อรองรับปริมาตรอาคารไว้ได้ ในยุค Renaissance ทำให้เกิดความรู้สึกด้านการรับน้ำหนักมากกว่าโดยใช้หินขนาดใหญ่และช่องเปิดขนาดเล็กกว่า ตัวอย่างอื่นๆ ได้แก่ งานของ Le Corbusier ที่สะท้อนประเด็นเรื่อง ความหนักไว้ในงานออกแบบ ดังผลงาน Villa Savoy และ Monastery of La Touratte โดยการเอาองค์ประกอบที่ดูหนักที่สุด ไว้ส่วนบนสุดของอาคาร เป็นการสะท้อนปัจจัยเรื่อง “พลังงานศักย์” ที่มีผลต่อความรู้สึกในเรื่อง “ความหนัก” ของวัตถุ


นอกจากนี้ความรู้สึกถึง ”ความลอยตัว” ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มีพื้นฐานมาจากความเข้าใจเรื่องแรงโน้มถ่วงและน้ำหนักของวัตถุ งานสถาปัตยกรรม “Falling Water” ของ Frank Lloyd Wright หรือ “Bacelona Pavilion” ของ Mies Van De Rohe ที่ออกแบบหลังคาอาคารโดยไม่สะท้อนการถ่ายน้ำหนักลงในแนวตั้ง ทำให้หลังคาดูลอยอยู่อย่างน่าอัศจรรย์

ยิ่งไปกว่านั้นอาคาร Concert Hall ที่ออกแบบโดย Jean Nouvel โดยมีหลังคาที่มีขนาดมหึมา แต่ยังบางเฉียบด้วยนั้น ไม่เพียงแต่มีหน้าที่ปกคลุมอาคารทั้งหมดเท่านั้น หากยังแขวนใน Scale ระดับเมือง ซึ่งถ้าเรายืนอยู่ที่ระดิบพื้นดินปกติแล้ว จะไม่สามารถเห็นโครงสร้างที่ใช้รับน้ำหนักมันได้เลย ซึ่งสิ่งนี้เป็นการเพิ่มมิติให้กับความรู้สึกอัศจรรย์เข้าไปอีก เช่นเดียวกันกับ Central Court ที่ออกแบบโดย Ragner Osberg ณ เมือง Stockholm ถึงแม้ว่า แรงดึงดูดจะแทรกซึมและเกี่ยวพันอยู่ทั่วไปกับงานก่อสร้าง แต่การสะท้อนถึงการมีอยู่ของแรงโน้มถ่วงในสถาปัตยกรรมกลับเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความสำคัญ ซึ่งสำหรับสถาปัตยกรรมนั้น มีประเด็นอื่นอีกมากที่การออกแบบต้องคำนึงถึง เช่น โปรแกรม ที่ตั้ง ความหมาย แต่ก็ยังมีอาคารบางแห่งที่ การแสดงออกถึงแรงโน้มถ่วงยังปรากฎให้เห็นเป็นประเด็นสำคัญในการออกแบบ แสดงให้เห็นว่า แรง (น้ำหนัก)นั้นทำงานผ่านที่ว่างและปริมาตรจนลงสู่พื้นดินได้อย่างไร เช่น สิ่งก่อสร้างอย่าง สนามบิน อาคารแสดงสินค้า ตลาด โบสถ์ โรงมหรสพ ตลอดจนถึง สะพาน เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสถาปนิกและวิศวกรบางกลุ่ม ที่ถือว่าการแสดงออกซึ่งแรงและการถ่ายน้ำหนักนั้น ถือเป็นสาระสำคัญในการออกแบบอาคารโดยไม่สำคัญว่าอาคารที่ออกแบบนั้น จะเป็นอาคารประเภทใด (ได้แก่ Nervi, Perret, Foster, etc.) ซึ่งได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง การสะท้อนหรือแสดงออกซึ่งการกระจายของแรง (Flow of Forces) และการมีอยู่ของแรงนั้น เป็นการเปิดโอกาสที่เชื่อมโยงระหว่างการรับรู้ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้น (Built Environment) กับ ความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์เรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง สิ่งปลุกประสาทสัมผัสที่บริสุทธ์นี้คืนมาอีกครั้ง แรงโน้มถ่วงกับการเรียนการสอนเรื่องการออกแบบ เพื่อที่จะให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า นักออกแบบเริ่มสื่อสารอย่างไรในประเด็นเรื่องของแรงโน้มถ่วงกับการออกแบบ และเรื่องนี้ถูกผสานเข้ากับแนวคิดแบบวิพากย์ของเราได้อย่างไร โดยการเริ่มที่การตั้งคำถามในเรื่องการออกแบบเปลือกอาคารว่ามีความสัมพันธ์กับเรื่องแรงโน้มถ่วงอย่างไร จากจุดนี้ทำให้เราเริ่มเห้นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างขัดแย้งกันของเทคนิคการก่อสร้างกับความศักยภาพในการสะท้อนลักษณะทางกายภาพของสถาปัตยกรรมผ่านเปลือกอาคาร ซึ่งสามารถจัดกลุ่มเงื่อนไขได้เป็น 4 ข้อจำกัดใหญ่ๆ ดังนี้

1. การแสดงออกทางสุนทรียภาพ VS กรรมวิธีการก่อสร้างจริง
เทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ ได้ทำลายข้อจำกัดในการออกแบบโครงสร้าง ให้อิสระในการจัดที่ว่างมากขึ้น ดังเห็นไดชัดจากงานออกแบบ ของ Le Corbusier และ Mies van der Rohe ยิ่งเห็นได้ชัดเจนในยุคสมัยนี้จากงานของ Eisenman Hadid Libeskind ที่งานออกแบบแทบจะเป็นอิสระจากกระบวนการก่อสร้าง เกือบเป็นเช่นเดียวกับกับงานจิตรกรรม ตัวอย่างเช่น งานของ Zaha Hadid (The Vitrs Fire Station) ที่การออกแบบ Canopy ทำให้เราเกือบลืมไปว่ามันสร้างขึ้นมาจากคอนกรีตไม่ใช่กระดาษแข็ง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการก่อสร้างในศตวรรษที่ 20 ได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีการก่อสร้างที่ “ขัดแย้งกับตรรกวิทยา” ของโครงสร้างในแง่ความรู้สึก จนทำให้รู้สึกกว่าไม่มีข้อสิ่งใดๆ อีกแล้วที่จะมาจำกัดการออกแบบ เช่นกรณีของ Guggenheim Museum ที่ Bilbao ออกแบบโดย Gehry เมื่อเปรียบเทียบกับสถาปัตยกรรม Baroque ในศตวรรษที่ 17-18 แล้ว ที่ว่างภายในมีความแตกต่างกันมาก เนื่องจากจากข้อจำกัดในเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ต่างกัน เนื่องจากจากข้อจำกัดในเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ต่างกัน

2. เศรษฐศาสตร์แรงงาน VS เศรษฐศาสตร์วัสดุ
ปัจจุบันนี้พื้นฐานที่เปลี่ยนไปมากที่สุดอย่างหนึ่งได้แก่ การเข้ามาของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งขณะนั้นค่าแรงงานได้เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ ค่าวัสดุมีราคาต่ำลง การแสดงออกทางโครงสร้างในงานสถาปัตยกรรมนั้นก็ต้องคำนึงถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจ ทำให้การแสดงออกในเรื่องของ Flow of Forces จากยอดสู่ฐานอาคาร ได้ผลลัพธ์ที่ไม่น่ายินดีนัก เนื่องจากคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้กันมากนั้น สามารถซ่อนและบิดเบือน ให้แนวการถ่ายแรงตามธรรมชาติกับรูปทรงเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกันได้ ดังตัวอย่าง เช่นหัวเสา ของ Maillartที่ถูกแทนที่ด้วย หัวเสาของ Geilinger ซึ่งได้ซ่อนการรับรู้เรื่องการถ่ายแรงไว้ภายในหัวเสาที่แบนหนานั้น
สะพานก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีแนวโน้มเปลี่ยน การรับรู้เรื่อง Flow of Forces ของเราอันเนื่องจาก การที่โครงสร้างรับแรงดึง (Cable Structure) เข้ามา ทำให้รูปร่างที่แสดงออกทางโครงสร้างแบบเดิมถูกลดทอนไป เพื่อให้ดูเรียบง่ายและประหยัดไม้แบบ ดังเช่นที่ Per Luigi Nervi กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ทั้งๆ ที่คอนกรีตถูกใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างมามากกว่าศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ศักยภาพของมันก็ยังคงไม่ได้มีใครตระหนักถึงมากนัก เหตุผลก็เพราะ ความเหมาะสมในทางปฏิบัติ (วิศวกรส่วนมากสนใจแค่ความแข็งแรงและความประหยัด) ความคิดที่จะแสดงออกถึงสาระสำคัญของโครงสร้าง และ Flow of Forces ดุเหมือนจะไม่ได้สลักสำคัญมากนัก” ในขณะที่งานของ Nervi นั้นสะท้อน Flow of Forces ของโครงสร้างออกมาอย่างตรงไปตรงมา
3. การห่อหุ้ม VS การแสดงออกซึ่งโครงสร้าง
เป็นที่ทราบกันดีว่า อาคารสูงส่วนใหญ่นั้น ใช้เหล็กหรือไม่ก็โครงสร้างคอนกรีต เป็นตัวรับน้ำหนักอาคาร และคลุมผิวอาคารด้วย Curtain Wall ที่ไม่ได้มีส่วนในการรับน้ำหนักใดๆ ในขณะที่ปัจจุบันนี้กระแสการประหยัดการใช้พลังงานเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก ทำให้มีการทบทวนกันมากขึ้นในการพิจารณาออกแบบ “เปลือกอาคาร” ที่ช่วยประหยัดพลังงาน ทำให้เหลือทางเลือกในการห่อหุ้มอาคารสูงเพียง 2 ทางดือ 1) การจัดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เปลือกอาคารให้แฝงการแสดงออกซึ่งโครงสร้างภายในทัตัวมันห่อหุ้มอยู่ และ 2) การทำให้เปลือกอาคารกับโครงสร้างเป็นอิสระจากกัน

Louis Sullivan เป็นสถาปนิกคนแรกๆ ที่ได้ทดลองแนวคิดเรื่อง “เปลือก-โครงสร้าง” นี้ โดยทดลองกับการใช้อิฐและ Ceramic Cladding หลังจากนั้นมานาน August Perret ก็ได้ทดลองทำเช่นเดียวกันนี้โดยใช้ Ceramic Cladding ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างคอนกรีตที่อยู่หลัง Ceramic Cladding เหล่านั้น ดังที่ Joseph Abram (1986) เขียนไว้ว่า “ งานของ Perret นั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้ Cladding เพื่อห่อหุ้มอาคาร ดังนั้นเพื่อไม่ให้ ปรากฏ สิ่งที่ดูเหมือนเป็นการตกแต่งโดยไม่มีเหตุผลจะต้องทำให้มันบรรลุถึงแสดงออกซึ่งความมั่นคงของตัวอาคาร”หลายอาคารในขณะนี้เน้นแนวความคิดในการออกแบบเปลือกอาคารที่มีความต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน มากกว่าเน้นการสะท้อนซึ่งโครงสร้างและเผยให้เห็นการรับน้ำหนักของอาคาร ดังเช่นงานของ Herzog& de Meuronและ Jean Nouvel ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจาการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุประกอบอาคาร ไม่ว่าจะเป็น Carbon และ Glass fiber ซึ่งมีน้ำหนักเบาและไม่ผุกร่อนง่าย อีกทั้งยังมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเหล็กอีกด้วย
จากจุดนี้สามารถทำให้ความซับซ้อนในการออกแบบ Façade อาคารลดลง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้สามรภแสดงออกซึ่งโครงสร้างอาคารได้ทั้งภายในและภายยอก การปฏิวัติของเทคโนโลยีวัสดุครั้งนี้ ก่อให้เกิด นวัตกรรมในการใช้ เหล็กและคอนกรีตเสริมเหล็กในงานออกแบบ

4. หน้าตาอาคาร (Façade) คือ เครื่องจักรที่ซับซ้อน
การพัฒนางานสถาปัตยกรรมได้เดินมาไกลจากจุดที่ Façade อาคารมีหน้าที่เพียงแค่แสดงออกว่าการถ่ายแรงของอาคารเป็นอย่างไรและอาคารตั้งอยู่ได้อย่างไร หรือ เพื่อการป้องกันทางสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ตลอดจนถึงเพื่อการรับแสงธรรมชาติและการระบายอากาศภายในอาคาร Façade ของอาคารพาณิชย์สมัยใหม่ (Modern Commercial Building) มักยุ่งเกี่ยวกับเรื่อง ช่อง Duct และอุปกรณ์ระบบปรับอากาศ ไฟฟ้า โทรศัพท์ แสงประดิษฐ์ หัวฉีดดับเพลิง และเกือบทั้งหมดต้องหุ้มโครงสร้างในกรณีการเกิดเพลิงไหม้

บางคนอาจคาดหวังการผสมผสานเครื่องอุปกรณ์ประกอบอาคารเหล่านี้ เพื่อสร้างภาษาใหม่ในงาน ในขณะที่โครงสร้างอาคารนั้นอาจมีหรือไม่มีโอกาสแสดงบทบาทของตัวเองอย่างเปิดเผย ซึ่งในความเป็นจริง การแบ่งชั้นของแรงงานในการผลิตในระบบอุตสาหกรรมก็เหมือนกับงานออกแบบที่ไม่ให้โอกาสให้สิ่งนี้ได้แสดงออกมา ส่วน Façade ของอาคารที่ซับซ้อนนั้นดูเหมือนด้านหน้าของรถยนต์ ยังปรากฏให้เห็นมีความเกลี้ยงเรียบ ซึ่งถ้าเป็นการออกแบบรถยนต์ก็มีเหตุผลเนื่องจาก หลักการของพลศาสตร์ (Aerodynamics) แต่สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามทันทีเมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบรูปลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรม
อาคารห้างสรรพสินค้า La Rinascente ที่ออกแบบโดย Franco Albini และ Franca Helg ในกรุงโรม
สะท้อนให้เห็นการผสมผสานรูปทรงอาคารที่มีพื้นฐานของงานช่างมากกว่างานอุตสาหกรรม แต่ยังคงสะท้อนจินตนาการให้เห็นความสลับซับซ้อนของเดรื่องจักรในการออกแบบ Façade อาคาร อีกทั้งยังเคารพ program และบริบทของเมืองด้วย

จินตนาการต้นแบบ
หน้าที่ที่ Albini และ Helg ได้รับมอบหมายคือการออกแบบอาคารห้ารสรรพสินค้าซึ่งนั้นหมายถึงการออกแบบอาคารหลายชั้นที่ทึบต้น เหมือน Container มาซ้อนๆ กัน และไม่ได้สัมพันธ์อะไรเลยกับ สภาพแวดล้อม บริบท และประวัติศาสตร์ เงื่อนไขที่อาคารนี้ประสบความสำเร็จในการออกแบบ Facade ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ขนาด สัดส่วน พื้นผิว สี และ แสงเงา เกิดจากการเข้าใจถึงการพิจารณาส่วนประกอบ ในหลากหลายแง่มุมและเป็นอิสระต่อกัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องทางเทคนิค ทางสถาปัตยกรรม หรือทางบริบทเมือง ถ้ามองแบบแยกส่วนจะเห็นว่าไม่มีส่วนไหนในทางเทคนิคเลยที่สะท้อนถึงการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลในแง่ของความประหยัด แต่ในองค์รวมนั้น อาคารประสบความสำเร็จในแง่ของความสบาย และให้ภาพลักษณ์ที่ดีต่อเมือง ซึ่งในสมัยของเรานั้น อาคารมักออกแบบให้สะท้อนถึง ความ “Hi-tech” อย่างล้นเกิน อย่างที่ Franca Helg (1982) ได้ให้ทัศนะว่า

“สิ่งที่เราพึงกระทำต่อสภาพแวดล้อมเมืองที่ค่อนข้างจะหนาแน่น ก็คือการให้อาคารไม่เป็นทั้งอนุสาวรีย์และเป็นอาคารที่ทื่อที่หาความสำคัญอะไรไม่ได้เลย มันควรจะมีความสง่างามทางสถาปัตยกรรมในแบบของมันเอง ละในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพ สภาพแวดล้อมเดิมที่มีอยู่ ความต้องการการใช้สอยในอาคาร และความยืดหยุ่นในการใช้งาน และอื่นๆ ส่วนประกอบทั้งหมดอันได้แก่ โครงสร้าง อุปกรณ์ประกอบอาคาร ผนังภายนอก หน้าต่าง หลังคา วัสดุ สี... มีความสัมพันธ์กันอย่างพึ่งพากัน อาคารหลังนี้ทำให้ลาน (Plaza) นั้นมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนโครงสร้างอาคารนั้นเป็นทางเลือกเชิงเทคนิคในขณะเดียวกันตัวมันเองก็เผยให้เห็นถึงสัดส่วนละจังหวะของอาคาร เส้นสายของโครงสร้างที่เป็นเหล็กนั้น มีความน่าสนใจในตังเองโดยทำหน้าที่เป็น Cornice ไปในตัว ส่วนแนวผนังอาคารมีการเน้นให้เกิดแสงเงา เพื่อเป็นการเพิ่มมิติให้กับรูปทรงอาคาร และเป็นการแก้ปัญหาเรื่องท่อต่างๆที่มีขนาดต่างๆกัน ในตัว เช่น ท่อ Air Condition เมื่อพูดกันถึงการแก้ปัญหาในบางจุดที่เราเลือกทำ ผมเห็นการพูดถึง ”ความเป็นโลหะ” บ่อยครั้งโดยเฉพาะการนำมาใช้กับ Cornice แต่ผมไม่เห็นรู้สึกว่ามันแสดงความเป็นเหล็กอะไรออกมาแต่อย่างใด ผมเพียงรู้สึกว่าอาคารควรจะเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำของผู้คนและมันก็ต้องการ Cornice สำหรับส่วนยอดสุดเพื่อให้เข้ากันได้กันอาคารที่อยู่รอบข้าง
สำหรับเรานั้น การวิเคราะห์และศึกษาในรายละเอียดนั้นอยู่บนพื้นฐานของคำถามที่ว่า “เราจะทำอาคารอย่างไร” และเราจะเห็นมันอย่างไร” ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียด ทั้งที่เป็นทางเทคนิคหรือแบบทั่วไป อาศัยประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาจากงานสถาปัตยกรรมในอดีตและสถาปัตยกรรม Modern ทั้งสิ้น และในงานออกแบบของเราเน้นงานมีความมุ่งหมายที่สร้างสรรค์งานให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นของเราทุกคน”
มากไปกว่าเหตุผลทางด้านเทคนิค
การเรียนการสอนงานด้านวิศวกรรมให้แก่สถาปนิก หรือ ด้านสถาปัตยกรรมให้แก่วิศวกรควรจะเน้นประเด็นไปที่การผสมผสานอย่างที่เหมาะสมและมีศิลปะอย่างงานของ Albini และ Helg หลังนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เกินไปจากเหตุผลทางด้านเทคนิคและเรื่องความประหยัด และก็ไม่ใช่การแสดงออกซึ่งถึงอย่างทื่อๆ ทางด้านเทคนิค ซึ่งนั่นไม่น่าจะใช่ศิลปะ ศิลปะนั้นมีความเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อยกับเรื่องแรงโน้มถ่วงหรือแม้แต่บริบทเมือง แต่มันยังคงเป็นสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่นั่นเอง

6 Comments:

At June 10, 2007 3:49 AM, Anonymous Anonymous said...

แบบว่า พยายามอ่านแล้วนะ แต่ เอ่อ ไม่รู้เรื่องอ่ะ anyway ดีใจที่ม้ากยังเขียนอยู่นะ เราต้องพยายามเขียนของเรามั่งแย้ว

 
At June 10, 2007 5:59 AM, Blogger Nattawut said...

หวัดดีริบบิ้น

เหวอ เล็กน้อย
ไม่คิดว่ามีคนอ่านอยู่อ่ะ

 
At June 18, 2007 10:37 PM, Anonymous Anonymous said...

ได้ข่าวว่าเขียนเพิ่ม โอ้พับผ่าสิ

 
At August 15, 2007 1:39 AM, Blogger bact' said...

เอาอีก :D

 
At September 22, 2007 12:24 AM, Blogger bact' said...

ขุดลิงก์มาฝากจากกรุงเทพ

ประชาไท, "ชาตรี ประกิตนนทการ : สถาปัตย์คณะราษฎร บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์", ประชาไท, 19 กันยายน พ.ศ. 2550

ชาตรี ประกิตนนทการ, "ศิลปะคณะราษฎร", ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 5 ฉบับที่ 1, มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2550

ชาตรี ประกิตนนทการ, "คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ", สำนักพิมพ์มติชน, มิถุนายน 2548. ISBN 974-323-522-1

ชาตรี ประกิตนนทการ, "การเมืองและสังคมในศิลปสัตยกรรม สยามสมัยไทยประยุกต์ชาตินิยม", สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 เมษายน 2550. ISBN 9789743233237


:)

 
At November 06, 2007 10:37 PM, Anonymous Anonymous said...

โอ้ยย เดาแล้วว่าถ้ากลับเยอรมันน่าจะเขียนต่อ

Ice

 

Post a Comment

<< Home