Saturday, September 17, 2005

กาลเทศะ

คงไม่มีใครสักกี่คนที่กล้าอ่านหนังสือโป๊บนรถไฟฟ้าเท่าๆ กับที่คงไม่มีใครสักกี่คนที่กล้าใส่ชุดแดงแป๊ดมาร่วมงานศพ เพราะการกระทำเหล่านี้ล้วนถูกตำหนิในสังคมทั้งสิ้น เพราะถือเป็นการทำอะไรผิดที่ผิดเวลา หรือที่เรียกว่าไม่มีกาลเทศะ

กาลเทศะ (Space-Time) นั้นนอกจากจะดำรงอยู่ในบริบททางวัฒนธรรมแล้ว กล่าวคือความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในอารยธรรมหนึ่งแล้ว ยังอาจดำรงอยู่ในบริบททางกายภาพได้อีกด้วย ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ได้ยินข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ของการออกมาต่อต้านของสถานอาบ อบ นวด ที่ผ่ามาตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียน เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการที่สังคมยังให้ความสำคัญของกาลเทศะ และก็ยังมีคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะได้ในระดับหนึ่ง

แต่ตัวอย่างข้างต้นนั้นยังไม่ชัดเจนนักในเรื่องของกายภาพ เพราะเป็นเรื่องคาบเกี่ยวระหว่างกาลเทศะทางวัฒนธรรมที่เรารับรู้ผ่านความหมาย (meaning) ของสถานที่ คือโรงเรียนถูกแทนค่าด้วยเยาวชน และ อาบ อบ นวด ถูกแทนค่าด้วยโสเภณี ซึ่งโสเภณีกับเยาวชนนั้นเป็นสิ่งที่ไปกันไม่ได้ในสังคมไทย

ถ้าสถาปัตยกรรมต้องสะท้อนกิจกรรมของอาคารออกมาภายนอกแล้วนั้น เรื่องดังกล่าวคงต้องเป็นอันยุติลงอย่างแน่นอน (ลองคิดว่าอาคารถูกออกแบบให้เป็นรูปคนร่วมประเวณีกัน) เพราะเรื่องนี้คงไม่อาจทำให้ฝ่ายผู้ประกอบการเลี่ยงบาลีใดๆ ได้ และสังคมคงต่อต้านกันขนานใหญ่ แต่ข้อเท็จจริงคืออาคารหลังนี้ถูกออกแบบมาโดยที่หน้าตาก็เหมือนกับโรงแรมทั่วๆ ไป ดังนั้นการทำให้สถานอาบ อบ นวด มีความหมายเท่ากับโรงแรม จึงทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการพอจะหาช่องทางตอบสังคมได้พอประมาณว่าไม่ผิดกาลเทศะเท่าไรนัก

ที่ผมเที่ยวยกตัวอย่างอุปมาอุปไมยนั้นก็เพราะอยากจะบอกเพียงว่า จริงๆแล้วการกำหนดสภาพแวดล้อมทางกายภาพนั้นก็มีกาลเทศะเช่นกัน แต่เป็นที่เข้าใจกันค่อนข้างแคบๆ ในหมู่นักเรียนและโรงเรียนสถาปัตยกรรม ไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจต่อคนทั่วไปมากนัก ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบอาคารยุโรปเสาโรมันที่ครั้งหนึ่งเป็นที่นิยมในโครงการหมู่บ้านจัดสรร ก็ถูกวิพากย์วิจารณ์พอสมควรว่าเป็นการออกแบบที่ผิดที่ (space) เพราะเราไม่มีรากเหง้าระบบคุณค่าแบบตะวันตก อีกทั้งภูมิอากาศบ้านเราเป็นเมืองร้อน ในขณะที่อาคารแบบตะวันเป็นอาคารที่ถูกออกแบบมาเพื่อภูมิอากาศเขตหนาว และนอกจากนี้ยังผิดเวลา (time) อีกด้วย เพราะอารยธรรมโรมันนั้นล่มสลายเป็นพันๆ ปีมาแล้ว การเอาของในอารยธรรมหนึ่งมาสวมแบบดาดๆ กับอีกอารยธรรมแบบข้ามเวลานั้นขาดเหตุผลทางวัฒนธรรมรองรับอย่างแน่นอน นอกเสียจากเหตุผลทางด้านพานิชย์

อธิบายอย่างนี้หลายคนอาจไม่เข้าใจ ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นถ้าเราลองนึกภาพตัวเอง ใส่ชุดเกราะทหารโรมันเดินตามท้องถนน หรือเดินในตลาด คุณคิดว่าเรื่องนี้ผิดกาละเทศะหรือไม่ ถ้าเราทำมันครั้งแรกผมคิดว่าแม่ค้าในตลาดต้องคิดว่าคุณมาถ่ายหนัง (แปลว่าพานิชย์) แต่ถ้าเราทำมันทุกวัน (แปลว่าวัฒนธรรม) ผมว่าแม่ค้าต้องคิดว่าเราบ้าแน่นอน

ผมแค่อยากจะบอกเพียงว่าอาคารหมู่บ้านจัดสรรรูปแบบโรมันนั้น พอมันสร้างเสร็จครั้งแรกมันก็เหมือนเราไปดีสนีย์แลนด์ที่มีปราสาทราชวังให้เราดูตื่นตาตื่นใจเล่น เราไปเพราะมันเป็นการพานิชย์รูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าให้เราอยู่ทุกวันเราก็จะพบว่าเราอยู่กับมันไม่ได้เพราะในความเป็นจริงแล้วเราไม่ใช่เจ้าหญิงหรือเจ้าชายในนิยาย แปลว่าปราสาทราชวังเป็นเรื่องนอกวัฒนธรรมเรานั่นเอง อย่าลืมว่าสถาปัตยกรรมนั้นไม่ใช่โปสเตอร์หรือปฏิทินแฟชั่นนะครับที่เบื่อแล้วก็ทิ้ง เพราะมันอยู่กับเราก็หลักสิบๆ ปีขึ้นไป

ที่เล่ามาไม่ได้หมายความว่าอาคารรูปแบบตะวันตกไม่เหมาะสมกับบริบทวัฒนธรรมไทยด้วยประการทั้งปวงนะครับ ไม่อย่างนั้นใครสวมชุดสูตรหรือชุดสากลผูกไทคงย่อมถูกหาว่าบ้าเช่นกัน เรื่องนี้เพื่อต้องการบอกให้เรารู้ว่าการรับเอาสิ่งที่เป็นของนอกวัฒนธรรมนั้นมีระดับในการกลืนเข้ามาสู่วัฒนธรรมแม่อยู่ ไม่ได้รับเอาแบบดุ้นๆ ส่วนกลืนได้มากหรือได้น้อยนั้นผมคิดว่าขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าบริบท ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราใส่ชุดสายเดี่ยวเกาะอกไปวัดนั้น วัดย่อมไม่อาจกลืนวัฒนธรรมของเราลงไปได้เต็มคำ แต่ถ้าเราไปเดินสยามสแควร์ก็ไม่น่ามีปัญหา ทำนองเดียวกับการใส่ชุดนักเรียนเข้าผับแหละครับ อย่างนี้เป็นต้น

ผมอยากเปรียบลักษณะภายนอกทางสถาปัตยกรรมเหมือนคนใส่เสื้อผ้าหลากหลายแบบ ตั้งแต่ไทยประเพณี (วัด เจดีย์ สถูป) สากล (อาคารสูง ตึกกระจก) จนกระทั่งถึง เด็กแร็พ ฮิปปี้ ฮิบฮอบ (อาคารแบบ Deconstruction) ที่เทียบกันนี้ทำเอาสนุกๆ นะครับ อย่าถือเป็นสาระ เผื่อว่าจะช่วยให้จินตนาการสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ออกมาได้บ้าง จากการเปรียบเทียบง่ายๆ นี้ เราอาจจะพบว่ามีเรื่องไม่ถูกกาลเทศะขึ้นจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมเรา เช่น ตึกสูงในเขตเมืองเก่า วัดอยู่ใกล้กับสถานเริงรมย์ เป็นต้น

แต่ผมว่าเรื่องกาละเทศะนั้นคลายตัวไปมากแล้ว คือไม่เข้มงวดเหมือนเมื่อก่อน เพราะสังคมเริ่มไม่ค่อยตำหนิคนที่ทำอะไรผิดกาละเทศะ และคิดว่าธุระไม่ใช่ หรือตราบใดที่มันไม่มาตบกบาลกรูมันจะทำอะไรก็เรื่องของมัน เป็นต้น พูดง่ายๆ คือสำนึกปัจเจกที่คืบคลานมาทดแทนสำนึกร่วมในสังคมนนั่นเอง จึงไม่แปลกอะไรที่เห็นวัด ตึกสูง และคาราโอเกะที่เผลอๆ จะอยู่ติดๆ กันไปในบล็อคเดียวกันอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจใดๆ

ภาพสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองไทยสำหรับผมแล้วมันก็เหมือนศิลปะแบบฉีกปะ (Collage) ล่ะครับ ที่คนใส่ชุดไทย (วัด) กับเด็กแร็พ (........) โดนกั้นด้วยรั้วบางๆ และตราบใดที่หลวงพี่ไม่ผ่าไปร้องเพลงในคาราโอเกะแล้วล่ะก็สังคมนี้ก็ "ชิว ชิว" ครับ

15 Comments:

At September 18, 2005 3:29 AM, Blogger crazycloud said...

ผมว่า กาละเทศะ ที่ว่าเป็นเพียงความคิดเท่านั้น หาได้เป็นกาละเทศะในความเป็นจริงไม่

กาละเทศะจริง ต้องไปอ่าน สัมพันธภาพของ ไอสไตน์

กาละเทศะในความหมายทั่วไป คือ การชี้วัด ตัดสิน ด้วยบรรทัดฐานของคนหมู่มาก แต่ไม่ได้ความว่าคนหมู่น้อยจะไม่มีกาละเทศะ นะ

ในคนหมู่น้อย กาละเทศะเรื่องเฉพาะกลุ่ม เช่นเด็กแนว จะถูกสังคมวิพากษ์ว่าไม่กาละเทศะในการแต่งตัว แต่ในกลุ่มของเด็กแนวการแต่งตัวในรูปลักษณะ แนวๆ นั่นแหละ คือกาละเทศะของกลุ่มเด็กแนวเอง

ส่วนหลวงพี่ ร้องเกะนั้น ชิว ชิว แน่นอน เพราะผมเคยยกกระดกสุรากลับหลวงพี่มาแล้ว...ชิวไหมล่ะ อย่างนี้หลวงพี่ กับ ผม ไม่รู้เป็นคนมีกาละเทศะไหมนะ

 
At September 18, 2005 3:34 AM, Anonymous Anonymous said...

^_^


เด็กประถมถูกปลูกฝังให้รู้จักกาละเทศะ
เด็กมัธยมมีค่านิยมทำตัวให้แปลกกว่ากาละเทศะ
เด็กมหาลัยก็ไม่ได้ไปฆ่าใครตาย แล้วจะมายุ่งกับกรูทำไม..!


สังคมเปลี่ยน ... อะไรๆก็เปลี่ยน

หุหุ


(ตอนเรียนมหาลัยใส่เสื้อยืด กางเกงยีน แตะฟองน้ำเข้าเรียนทุกวัน เพราะอาจารย์เสกสรรค์บอกว่าเรียนเอาหัวคิด ไม่ได้เอาเท้าคิด)


นู๋เลยออกมาเป็นอย่างเงี้ยยยยย

 
At September 18, 2005 3:36 AM, Blogger crazycloud said...

จริงแล้ว สถาปัตย์ เนี่ย อธิบายประวัติได้ดีนะ ว่าไหม ผมเพิ่งเจอหนังสือเล่มหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ แต่เป็นของศิลปวัฒนธรรม ใช่สถาปัตย์มาอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองได้ดีมาก เอาไว้เจอจะเขียนมาบอกใหม่

นอกจากนี้ตัวตึก อาคาร ยังเป็นหลักฐาน ชนิดที่ทางกฎหมาย เรียกว่า ประจักษ์พยาน เพราะมีรูปร่าง ทรง ที่ชัดเจน จับต้องได้ ชัดกว่าคำพูดคนด้วยซ้ำ เพราะคนแกว่งไกวได้ง่าย แต่ตึกอาคาร โกหกไม่เก่ง ว่าไหม

ท้ายสุด ผมชอบดูรายการอาจารย์เชี่ยว ทางเนชั่นมาก แต่ถามคนเรียน ถาปัด หลายคน ไม่เห็นมีใครชอบแก Warum?

 
At September 18, 2005 3:46 AM, Blogger crazycloud said...

ติดพันเนื่องจากลองอ่านอีกรอบ ผมว่าคุณลองไปอ่าน บท "Les corps dociles"ใน Surveiller et Punir ของ มิแช็ล ฟูโกต์ ดู รู้สึกมีแปลเป็นไทยด้วย ใช้ชื่อว่า "ร่างกายใต้บงการ" เพื่อจะได้ภาพต่อของความคิดเพิ่ม ในเยอรมันน่าจะมีแปลนะ

 
At September 18, 2005 3:46 AM, Blogger crazycloud said...

ติดพันเนื่องจากลองอ่านอีกรอบ ผมว่าคุณลองไปอ่าน บท "Les corps dociles"ใน Surveiller et Punir ของ มิแช็ล ฟูโกต์ ดู รู้สึกมีแปลเป็นไทยด้วย ใช้ชื่อว่า "ร่างกายใต้บงการ" เพื่อจะได้ภาพต่อของความคิดเพิ่ม ในเยอรมันน่าจะมีแปลนะ

 
At September 18, 2005 7:16 AM, Blogger vok89 said...

ผมว่ากาละเทศะ มันมองได้หลากหลายมากเลย

เช่นสมมุติว่าจะแบ่งมันไปในส่วนของฟังชั่นและแฟชั่นน่ะ(คร่าวๆ)

ถ้ามันไม่ถูกแฟชั่น แต่มันถูกฟังชั่น มันก็ยอมรับได้ในรูปแบบนึง

หรือไม่ถูกแฟชั่น แต่ถูกฟังชั่นก็อาจรับได้แบบนึง

แต่บางครั้งเหมือนเรื่องเดียวกัน แต่มันก็กลับมองได้หลายด้านมาก
เช่น ใส่กางเกงขาสั้นไปเรียน เพราะ มันเย็นสบาย ถูกกาละเทศะทางด้านสภาพอากาศ (อันนี้บางคนอาจมองไปในทางฟังชั่น)

หรือใส่ไปเรียนแค่เพราะ มันทำให้ตัวเองดูแตกต่างจากคนที่เหมือนอยู่ในระบบ ดูแล้วเหมือนฉลาดสองชั้น (อันนี้บางคนมองไปในทางแฟชั่น)


ส่วนเรื่องคำว่ากาละเทศะจริงๆ นี่ผมว่า มันควรจะเน้นไปในทางภาพรวมของสังคมมากกว่า ว่ามันมีผลดีผลเสียยังไงกับคนอื่นแค่ไหน
ไม่ไช่เอะอะใช้ท่าไม้ตาย "ไม่หนักหัวใคร" แล้วคิดจะทำห่าอะไรก็ได้

อย่างเมื่อวานเพิ่งไปวัด meiji shrine ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ harajuku มา
มันก็ตั้งอยู่ติดกันกับแหล่งพวกเด็กซ่าทั้งหลายนั่นแหล่ะ เดินเข้าไปตรงทางเข้ายังมีเสียงเพลงจากพวกวัยรุ่นดังลอดเข้ามาเลย แต่ มันก็อยู่ของมันได้ แล้วพวกวัยรุ่นพวกนั้น เขาก็ไม่เอาแอมป์ ไปตั้งในวัด เพื่อทำตัวเป็นขบถอะไรโง่ๆ ซึ่งตามมาตรฐานผม ผมก็มองว่ามันก็ลงตัวดี
(คือพอเดินออกมายังไม่ทันพ้นจากวัด พวกเด็กๆที่แต่งตัวเป็นตัวการ์ตูนเดินว่อนไปหมดเลย)

แต่ถ้าเป็นวัดไทย แบบนี้คือ ไม่ถูกกาละเทศะ ในขณะที่ ปล่อยให้ รถตู้ เต็นต์ ใบ้หวย หรือ ซุ่มขายอุปกรณ์อธิฐานอะไรต่างๆนาๆ โหวกเหวกโวยวาย กันกลางวัด กลับไม่มีใครว่าอะไร

ผมเลยว่า ถ้าเอาประเด็นกาละเทศะเป็นที่ตั้ง ไม่มีทา
งได้คำตอบที่สวยงามแน่นอน มันดิ้นได้เรื่อยๆแหล่ะ

 
At September 18, 2005 8:58 AM, Anonymous Anonymous said...

ผมว่า กาละเทศะ มันแยกออกมาไม่ได้ กับวัฒนธรรมครับ แต่ที่่สำคัญกว่า คือ จะเข้าใจ กาละเทศะที่ไปได้กับวัฒนธรรม มันก็ต้อง เข้าใจคำว่า วัฒนธรรมด้วย วัฒนธรรม ไม่ใช่ อะไรที่เป็นก้อน ๆ จับต้องได้ อยู่ยุคไหน สมัยไหน มันก็ต้องแปรเปลี่ยนไป

วัฒนธรรม แท้จริงแล้วมันมีรอยต่อทางความคิดมากมายหลายมุมมอง มันอาจหมายถึง ขนบประเพณี วิถีชีวิต พฤติกรรมและรสนิยมของผู้คนในชุมชนหนึ่ง ๆ (ตามแนวคิดของพวกนักปรัชญา) ในขณะที่ว่ากันในเชิงวิชาการ มันคือ จริตโดยรวมซึ่งคนในสังคมนั้น ๆ ซึมซับมา รวมไปถึงศักยภาพทางเทคนิค สัญลักษณ์ และความงอกงามทางสังคม หรือมันอาจเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ทางภาษา ความเชื่อ ประเพณี ศิลปะ ซึ่งได้ถูกหลอมรวมเข้ากันทั้งหมดตามแนวคิดของนักจิตวิทยา ก็ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความหลากหลายทางความคิดและมุมมอง เป็นตัวการหนึ่งครับที่ทำให้ความหมายของคำว่า วัฒนธรรม มีเหลี่ยม มีมุมกว้างขวางยิ่งขึ้นในกรอบของ ความเชื่อ บุคลิกภาพ วิถีชีวิต พฤติกรรมมนุษย์

ที่ผมยกมา เพราะน่าสงสัยเหลือเกินว่า ทำไม ผู้ใหญ่ โดนเฉพาะอย่างยิ่ง คนในกระทรวงวัฒนธรรม มักชี้หน้าด่าเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ว่า แต่งตัวโป๊ ๆ เปรี้ยว ๆ ไม่ว่า ที่ไหน ๆ มันก็ไม่ถูกกับ กาละ เทศะ และวัฒนธรรมไทย...เหอ ๆ ถ้าจะให้ถูกสงสัยต้อง ใส่ชุดไทย ไปโรงเรียน

แหะ ๆ นอกเรื่อง นอกราวไปนู่น เห็นคุณ Nattawut พูดถึง ประเด็น สถาปัตย์ เมืองหนาว กับเมืองร้อน ขึ้นมา ต่อมความอยากรู้ในเรื่องนี้ ที่เก็บกดไว้นานนม แต่หาผู้ใดมาไขไม่ได้ ก็บวมครับ เพราะผมมักนั่งถามกันกับเพื่อน ๆ ว่า ทำไม คนไทย จำนวนมาก มาเรียนสถาปัตย์ที่เมืองหนาว ทั้ง ๆ ที่ประเทศเราร้อนตับจะแตก...ผมเอง เคยมีโอกาสไปประชุมวิชาการนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ที่มองปริเย่ ไปเข้าฟัง กลุ่มสถาปัตย์ เขาคุยกัน มีพี่คนหนึ่ง เอางานที่แกทำปริญญาเอก มาเสนอ แกทำเกี่ยวกับ หลักการ และวิธีการในการทำให้ บ้านเย็นสบาย...ไม่ต้องแปลกใจครับ เพราะ มองปริเย่ ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อากาศร้อนกว่าบ้านเราซะอีก..ผมเลยคิดว่า...เอออออ เฟ้ย มาเรียนสถาปัตย์ ทางใต้ของฝรั่งเศส ค่อย ได้อะไรที่มันเข้ากับเราหน่อย....แต่ผมก็ไม่ได้ ว่า คนที่มาเรียนเมืองหนาวนะครับ...เพียงแต่ แค่สงสัยเท่านั้นว่า คนที่มาเรียน เมืองหนาว เขาเก็บเอา แนวคิดอะไรที่ไปใช้กับเมืองไทยเราได้บ้าง...อยากรู้จริง ๆ ง่ะ....

 
At September 18, 2005 2:56 PM, Blogger Nattawut said...

อืม คึกคักน่าดูแฮะ

ผมเห็นด้วยครับว่ากาลเทศะเป็นเรื่องวัฒนธรรมแน่ๆ และก็เป็นพลวัต นอกจากนี้ไม่มี point of view ที่ตายตัวอีกด้วย คนสองคนมองเรื่องเรื่องนึงจากคนละมุมก็ได้ความรู้สึกของกาลเทศะต่อสิ่งนั้นๆ ที่ต่างกัน

อย่างที่คุญ crazycloud ว่านั้นจริงแน่ๆ ครับที่กาลเทศะเป็นเรื่องสมมติที่เป็นความจริงระดับ Reality ไม่ได้เป็นสิ่งจริงแท้ (Geniune)แต่ขอข้ามไปก่อนนะครับเพราะเดี๋ยวจะเป็นประเด็นปรัชญาไป

ตัวผมเองไม่มีความเห็นใดๆ ต่อเรื่องว่าอะไรถูกหรือไม่ถูกกาลเทศะ เพราะผมก็เห็นว่ามันเปลี่ยนไปของมันอย่างงั้นแหละ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่อินังขังขอบกับกาลเทศะ แต่ผมคิดว่าในระดับปัจเจกมันไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึง เรานน่าจะพูดถึงได้ตั้งแต่ระดับ sub-culture ชึ้นไปเพราะผมเชื่อว่ามันมี bottom line อยู่ที่สังคมจะยอมรับได้หรือไม่ได้ ที่คิดออกอย่างเดียวคือมาตรฐานจริยธรรม และมาตารฐานจริยธรรมเป็น collective norm อย่างเดียวที่พอจะขีดเส้นแบ่งได้ว่าอะไรถูกตัดสินว่าถูกกาลเทศะหรือไม่ จากเกณฑ์อะไรอย่างที่ Saranont ยกตัวอย่างไว้ค่อนข้างชัดเจน ถึงแม้ว่ามาตรฐานทางจริยธรรมเองจะแกว่งอยู่มากก็ตาม

เรื่องที่คุณ cheguevara ถามว่าคนเรียนสถาปัตย์เมืองนอกนั้นเอาแนวคิดอะไรมาใช้กับบ้านเราบ้าง ผมขอตอบด้วยปัญญาอันน้อยนิดว่า สิ่งที่สถาปนิกยุคก่อนนำเข้ามาใช้กับสถาปัตยกรรมคือเรื่องไวยกรณ์ของที่ว่างครับ มียุคหนึ่งสมัยซักทศวรรษที่ 20-30 ได้เกิดการแนวคิดเรื่องการออกแบบแบบ International style (Modern architecture) ที่เชื่อว่ามีความงานแบบจริงแท้สมบูรณ์ เป็นอกาลิโก สามารถตั้งที่ไหนก็ได้ แต่แนวคิดนี้ก็เสื่อมความนิยมลงไปนานแล้ว แต่ยังแผลงฤทธิ์อยู่บ้างครับเพราะส่วนมากสถาปัตยกรรมีอายุยาวก่าคนสร้าง อิอิ

เรื่อง อ เชี่ยวนั้นที่สถาปนิกไม่ชอบแกเพราะแกไม่มีกาลเทศะครับ คือแกหมิ่นเหม่ต่อการผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ เพราะสถาปนิกห้ามโฆษณาตัวเองครับ ซึ่งกาลเทศะที่สถาปนิกมองก็อาจเป็นคนละแบบกับที่คนอื่นๆ ในสังคมมองก็ได้ครับ เพราะคสองกลุ่มใช้บรรทัดฐานในการตัดสินไม่เหมือนกันอบ่างที่คุณ crazycloud ว่าไว้แหละครับ

 
At September 18, 2005 2:57 PM, Blogger Nattawut said...

เดี๋ยวนะ
ผมเขียนคำว่า "กาลเทศะ" ผิดหรือป่าว หรือมันเขียนว่า "กาละเทศะ"หว่า

 
At September 18, 2005 4:06 PM, Anonymous Anonymous said...

ผมตามมาจาก บล๊อกท่าน ศาตรา(จารย์)โต (แต่อ่อน)ฯ ครับ

ผมว่า สังคมมันเปลี่ยนไปมากจริง ๆ เปลี่ยนจนตามไม่ทัน ...

 
At September 19, 2005 12:09 AM, Blogger Nattawut said...

ขอบคุณคุณ pol_us ที่แวะมาเยี่ยมครับ

 
At September 19, 2005 2:17 AM, Blogger crazycloud said...

กาละเทศะ หรือ กาลเทศะ ต้องไปเปิดพจนานุกรมดู สำหรับผมใครใช้ผิดหรือไม่ ไม่ผิด กาละเทศะ หรือ กาลเทศะ หรอกครับ เพียงแต่หาก อาจารย์แม่ หรือนักภาษามาเห็น อาจจะผิด กาละเทศะ หรือ กาลเทศะ ก็ได้

ที่ท่านพี่เช ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ วัฒนธรรม ที่จริง ก็ คือกาละเทศะ เป็นจิตวิญญาณในระดับมวลรวมที่มีกำลังเพียงพอในการกำหนดแบบแผน

จิตวิญญาณดังกล่าว มีทั้งจิตวิญญาณกระแสหลัก กับกระแสรอง กระแสหลักก็มีทั้ง เอกนิยม และพหุนิยม พวกแรกบ้าความคิดครับ แต่พวกหลังรับได้กับกระแสรอง ส่วนพวกกระแสรองนั้นเป็นธรรมชาติของความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางจิต จนนำไปสู่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ดังนั้น ที่บอกว่า ไม่รู้ กาละเทศะ แท้จริง ก็คือ การต่อสู้กัน ของกระแสหลัก กับ กระแสรอง (แท้จริงแล้วคือ การต่อสู้ของกาละเทศะที่แตกต่างกัน) ต่างก็ว่าอีกฝ่ายไม่รู้กาละเทศะ

พูดถึง เอกนิยม พหุนิยม กาละเทศะ แล้วมาดูนายกทักษิณกับปัญหาภาคใต้ จะพบว่า ท่านเป็นพวก เอกนิยม ที่ไม่เปิดหูเปิดตารับความหลากหลายของกาละเทศะ จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นพวก "ไม่รู้กาละเทศะ"ครับท่าน

กาลเทศะ การะเทศะ การเทสะ กาลเทษะ การะเธสะ .........ฮา ฮา

 
At September 19, 2005 2:20 AM, Blogger crazycloud said...

ชอบใจ บล็อกนี้ เพราะหนักหัวขมองดี

 
At September 19, 2005 8:45 AM, Blogger B ^ ^ N said...

ทำไมวันนี้คนเยอะจังเลยคะ เขิลลลล์

 
At September 20, 2005 2:35 AM, Anonymous Anonymous said...

ครูภาษาไทยมาเอง... กาลเทศะ... ถูกแล้วค่ะ ^^

ส่วนตัวรู้สึกคำว่า "กาลเทศะ" มันแล้วแต่คนจะนิยามอ่ะค่ะ
เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมได้มั้ย... ก็น่าจะได้
แต่ตัววัฒนธรรมเองก็ใช่จะอยู่ยงคงกระพัน... ก็ปรับเปลี่ยนกันไปตามกาล

อย่างใครจะสร้างบ้านด้วยเสาโรมัน... เป้ก็โอเคนะคะ
เรื่องรสนิยม... นานาจิตตังค่ะ
เด็กนักเรียนจะไว้ผมยาว... ทำเดดร็อก... หรือแต่งตัวผิดระเบียบไปเรียน
บางทีเราอาจต้องกลับไปทบทวน "กฎระเบียบ" ของโรงเรียนด้วยว่า... มันฟิตกับเด็กที่อยู่ในวัยรุ่นมั้ย

แต่เรื่องแหล่งเริงรมย์ข้างวัด
หรืออาบอบนวดหน้าโรงเรียน... ก็ไม่ไหวนะคะ

ถ้าจะพูดถึงกาลเทศะ... เป้สนใจในแง่ผลกระทบต่อสังคมมากกว่าค่ะ ^^

 

Post a Comment

<< Home