Sunday, October 16, 2005

สวนตาลเมืองปทุม

หลายคนอาจจะไม่รู้เหมือนผม หรืออาจจะมีผมคนเดียวที่ไม่รู้ว่าของดีขึ้นชื่อของปทุมธานีคือ ลูกตาล “ลุงเหน่ง “ สมาชิกชุมชนประปาเก่า เล่าให้ผมฟังแบบภาคภูมิใจว่าว่าถ้าตาลเมืองปทุมจะมีตาลน้อยกว่าเมืองเพชรก็คงแพ้แค่เพียงลูกเดียวเท่านั้น

แต่นั้นคืออดีตของเมืองปทุม เพราะทุกวันนี้สวนตาลแถบนี้มีเหลืออยู่เพียวแค่ 10% ของที่เคยมีมา เนื่องจากปทุมธานีก็เหมือนเมืองอื่นๆ ที่เรียกว่าปริมณฑล ที่ผลของการพัฒนา กทม. ได้ไปเปลี่ยนแปลง Cultural Landscape จากพื้นที่เกษตรกรรมเดิม ที่รายล้อมไปด้วยสวนตาลและนาข้าว ไปเป็นพื้นชานเมืองที่ต่อขยายออกมาจากรังสิต โดยแวดล้อมไปด้วยหมู่บ้านจัดสรรโครงการต่างๆ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนได้รับประโยชน์จากการพัฒนา เช่น ราคาที่ดินที่สูงขึ้น ความสะดวกสบายที่มากขึ้น แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับผลกระทบในทางลบ เช่น ปัญหามลพิษ ปัญหาด้านการทำกินที่ต้องลำบากมากขึ้น

ชุมชนบางปรอก ชุมชนประปาเก่า และชุมชนอื่นๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนและคลองซอยที่ขุดต่ออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาต่างได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้าง เช่น น้ำเน่าเสียที่รุนแรงในฤดูร้อนและ น้ำท่วมในฤดูฝนเนื่องจากการที่ต้องเป็นพื้นที่รับน้าฝนไม่ให้ท่วม กทม ทำให้นาล่ม และสูญเสียพันธ์ตาลพื้นบ้านไปอยู่พอสมควร

เครือข่ายชุมชนเมืองปทุมเป็นหนึ่งในความพยายามของชาวบ้านที่ต้องการส่งสารถึงหน่วยงานท้องถิ่นว่า ชุมชนอยากจะขอกำหนดวิธีชีวิตของตนบ้างได้ไหม เนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านมานั้น รัฐไม่เคยถามชาวบ้านเลยว่าชาวบ้านต้องการอะไร (หรืออาจเพราะความต้องการของชาวบ้านไม่เอื้อประโยชน์ใดๆ ต่อผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งรัฐมีความหมายแคบลงเหลือแค่เพียงกลุ่มการเมืองท้องถิ่น) ตัวอย่างเช่น จากเดิมเส้นทางคมนาคมโดยใช้คลองถูกแทนที่ด้วยถนนหนทาง เรือแจวที่ชาวบ้านเคยมีก็ถูกรื้อออกเพื่อนำไม้ไปขายเพราะจอดไว้ก็ไม่ได้ใช้อีกต่อไป บ้านเรือนริมน้ำบางส่วนถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่แบบอาคารที่เราเห็นกันดาษดื่นตามโครงการบ้านจัดสรร

คลองมีความหมายเหลือเพียแค่ทางระบายน้ำทิ้ง ทั้งจากหมู่บ้านจัดสรรและอาคารพานิชยกรม บ้านที่ปลูกใหม่หันหน้าสู่ถนน วิถีชีวิตริมน้ำที่ชาวบ้านคุ้นเคยได้ทยอยหายไปเพราะการพัฒนาบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนแบบแผนพฤติกรรม เอกลักษณ์ชุมชนป็นเรื่องไร้สาระตราบเท่าที่มันยังเปลี่ยนเป็นสินค้าไม่ได้ สิทธิชุมชนมิพักต้องพูดถึง แม้ว่าจะเขียนอยู่หราในรัฐธรรมนูญก็ตาม

ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะมีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ทั้งเรื่องเอกลักษณ์ สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ชุมชนมีความสามารถในการจัดการประเด็นสาธารณะผ่านองค์กรชาวบ้านได้ดีในระดับหนึ่งก็ตาม แต่การพัฒนาที่ภาครัฐเห็นว่าที่ตัวเองทำนั้นถูกต้องกว่า เจริญกว่า หรือดีกว่า เพราะรัฐท้องถิ่นเองก็เต็มไปด้วยเทคโนแครต ชาวบ้านจบ ป 4 ป 7 มันจะไปรู้อะไร ซ้ำร้ายชาวบ้านอาจถูกประณามอีกด้วยว่าใจแคบ ไม่เสียสละเพื่อส่วนรวม แบบที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่อก๊าซและเขื่อนโดน (ก็แหงล่ะ มันไม่ได้ผ่านบ้านเมิงนี่ เมิงก็พูดให้เคนอื่นสียสละได้)
ในสังคมอย่างสังคมไทยที่ราคาลูกกระสุนนั้นถูกกว่าการมานั่งทำประชาพิจารณ์ ผมเลยเอาภาพสวนตาลที่คิดว่าเป็นผืนท้ายๆ ในเขตเมืองปทุม (อยู่ตรงข้ามกับเทศบาลนี่เอง) มาฝากไว้ให้ดูเล่นก่อนนะครับ เพราะอีกไม่นานเราก็จะไม่ได้เห็นภาพนี้อย่างแน่นอน

Monday, October 10, 2005

Habitat Day

สองอาทิตย์ที่ผ่านมาของผมในเมืองไทย หมดไปกับการพบเพื่อนฝูงส่วนหนึ่ง ประกอบกับที่บ้านไม่มีเน็ทใช้เลยไม่ได้อัพเดทอะไรเลย อีกส่วนหนึ่งก็ต้องไปช่วยงาน World Habitat Day ที่จัดงานที่ท้องสนามหลวงระหว่างวันที่ 3-8 ตุลาคมที่ผ่านมา ถ้าใครผ่านไปแถวนั้นจะเห็นมหกรรมการนำเสนอรูปแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ที่ UN-Habitat ยกให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบการแก้ปัญหา

UN-Habitat นั้นเป็นหน่วยงานหนึ่งใน UN เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยแห่งองค์การสหประชาชาติ คล้ายๆ กับที่ Unicef ดูเรื่องเด็กหรือ UNESCO ดูด้านศิลปวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ ผมเพิ่งมารู้ภายหลังว่างานนี้ใหญ่มาก เพราะนายกมาเปิดงานเอง และตลอดงานก็มีรัฐมนตรีมาข้องแวะตั้งแต่เริ่มจนจบถึงสี่คนด้วยกัน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) ที่เป็นหัวหอกในการทำโครงการ "บ้านมั่นคง" โครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดทั่วประเทศ ได้เป็นที่สนอกสนใจของนานาชาติ ทำให้เกิดงานนี้ขึ้นอย่างที่กล่าวมาแล้ว ตัวผมพอกลับมาถึงก็ได้รับการติดต่อจากพี่ปุ้ย เลขาพี่เขียว (ผู้อำนวยการของ พอช) ให้ไปเป็นล่ามในงานนี้ ตลอดจนถึงนำคณะดูงานจากศรีลังกาและกัมพูชา ไปดูโครงการที่จังหวัดอุบลราชธานีและสุรินทร์ เรียกว่ายังไม่ทันจะได้ดู กทม เลย ก็ต้องระเห็ดไปต่างถิ่นแล้ว

อันที่จริงพื้นที่ที่ผมทำไว้ก่อนหน้าที่จะไปเยอรมันนั้นอยู่ที่คลองบางบัว เขตบางเขน แต่ผมอยากไปดูโครงการในบริบทต่างจังหวัดบ้าง ประกอบกับ อ. เซ้ง ที่เป็นผู้ประสานงานสายอีสาน จะไปเส้นอุบล ผมเลยบอกกับพี่ปุ้ยว่าผมขอไปอีสานก็แล้วกัน ซึ่งเป็นไปตามที่ผมคาดที่ว่า โครงการนี้เกิดขึ้นที่ต่างจังหวัดมากกว่า กทม และมีโครงสร้างที่เอื่อต่อการทำงานด้วย เนื่องจากกลไกเกิดขึ้นในระดับเทศบาลและเมือง ต่างจาก กทม ที่เกิดจากชาวบ้านเป็นส่วนมาก แล้วก็เคลื่อนกระบวนต่อไปอย่างเชื่องช้า

จากเวทีแลกเปลี่ยนที่จัดขึ้นภายหลังจากการทัศนศึกษาดูงานทุกสาย (มีทั้งหมดสิบสายทั่วประเทศ) ทำให้ผมได้รู้ว่าของเรานั้นดีกว่าเขาเพื่อนจริงๆ เพราะประเทศอื่นๆ นั้นไม่มีหน่วยงานรัฐที่เป็นกลไกเชื่อมชาวบ้านกับรัฐท้องถิ่น และไม่มีงบประมาณสนับสนุนใดๆ ด้วย แต่ถึงแม้ของเราจะถือว่าดีในระดับโครงสร้างการทำงานแต่ในรายละเอียดก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง

ที่ผมชอบอย่างหนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชุมชนนั้นเผยให้เห็นออกมาชัดเจนมาก ซึ่งเป็นลักษณะแบบลูกพี่กับลูกน้อง อย่าไปถามหาประชาธิปไตยตามแนวคิดแบบตะวันตกเลยนะครับ มันเรื่องอุดมคติทั้งนั้น หาไม่เจอในบริบทต่างจังหวัดหรอกครับที่นักการเมืองคือลูกพี่ ชาวบ้านก็ลูกน้อง ยกตัวอย่างที่สุรินทร์ที่งานนี้ออกหน้ามาทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด สส นายกเทศบาล รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย เพราะท่านๆ เขาได้ข่าวว่าคณะดูงานมาจากสหประชาชาติเท่านั้นแหละ เกณฑ์มาแทบทั้งเทศบาล แต่งานที่นักการเมืองได้หน้านี่ผมละชอบจริงๆ เชื่อมั้ย หมดงานนี้ ชาวบ้านได้น้ำประปาใช้แน่นอน เพราะท่านรัฐมนตรีเอาหัวหน้าส่วนงานประปาจังหวัดมาด้วย ภาษากลยุทธเรียกว่า win-win scenario นักการเมืองได้หน้า ชาวบ้านได้สัญญาเช่าที่ พอช ได้ขยายโครงการ กลไกที่ได้ผลคือให้บารมีลูกพี่ไปซะแล้วเราเอาเนื้องาน งานก็จะลื่นไหลขึ้น

อันที่จริงอยากโพสต์รูปทิ้งเอาไว้บ้าง แต่ผมถ่ายมาแต่วีดีโอทั้งหมด อยากเล่ามากกว่านี้ด้วย แต่ไม่สะดวก รอให้มีเน็ทใช้ก่อนแล้วกันนะครับ ขอยกไว้เป็นงวดหน้านะ