To Marx

....Karl Marx....
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้มีโอกาสสนทนากับเพื่อนร่วมหอพักชาวโปแลนด์อยู่ 2-3 ครั้ง โดยประเด็นหนึ่งขอการสนทนาคือเรื่องการปกครอง อย่างที่เราทราบว่าปัจจุบันนี้โปแลนด์ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบคอมมิวนิสต์มาเป็นประชาธิปไตยร่วม 15 ปีมาแล้ว แต่เพื่อนผมคนนี้เป็นคนหนึ่งที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นกับประเทศของตัวเอง
เธอเล่าว่า เมื่อก่อนนั้นทุกคนมีเงินให้จับจ่ายใช้สอยเนื่องจากไม่มีคนตกงาน และทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็น หมอในโรงพยาบาล ครู เกษตรกร เนื่องจากทุกคนมีงานทำในฐานะที่เป็นลูกจ้างของรัฐ เพราะรัฐเป็นเจ้าของทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ตลาด โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา ขนส่งมวลชน ฯลฯ แต่ปัญหาคือไม่มีอะไรให้เธอซื้อมาก เพราะทุกอย่างถูกผลิตออกมาเหมือนๆ กันหมด กระเป๋าแบบเดียวกัน รองเท้าก็ด้วย เนื่องจากคอมมิวนิสต์ไม่มีการแข่งขันจึงไม่มีเหตุผลอะไรให้รัฐทำของออกมาให้หลากหลายมากๆ ให้สิ้นเปลืองเพราะยังไงก็ขายได้อยู่ดี
แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเท่ากันเป๊ะๆ ทุกคนนะครับ การเข้าถึงสินค้าเหล่านี้มีความเหลื่อมล้ำนิดหน่อย คือ คนที่เป็นกรรมกรในเหมืองและเกษตรกร รวมถึงทหารจะมีสิทธิในการซื้อสินค้าก่อน หรืออาจได้สิทธิในการซื้อเนื้อสัตว์มากกว่าคนอื่นๆ ตามหลักปรัชญาของคอมมิวนิสต์ที่ให้ความสำคัญต่อชนชั้นการผลิต (แรงงานนั่นเอง) สมสัญลักษณ์ "ค้อนเคียว" ที่ปลิวไสวบนธงสหภาพโซเวียตเมื่อในอดีต แต่ข้อเสียของคอมมิวนิสต์อย่างที่เรารู้ๆ ก็คือ มันไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน หมายความว่าคนทำมากทำน้อย ก็ไม่อดตาย หนำซ้ำยังได้เงินเท่าๆ กันอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะพวกเช้าชามเย็นชามจะเกาะกินระบบจนมันอยู่ไม่ได้อย่างที่ปัจจุบันนั้น ประเทศที่เป็นอดีตคอมมิวนิสต์ก็เปลี่ยนแปลงการปกครองจนเกือบหมดแล้ว อย่างไรก็ดีแนวคิดแบบสังคมนิยมก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในประเทศเหล่านี้ เพราะเพิ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ถึงแม้จะเกิดพรรคเสรีนิยมมากขึ้น แต่คนส่วนมากก็ยังคุ้นชินกับการได้รับการดูแลจากรัฐ
ที่อารัมภบทมานี้ก็เพราะโลกเรานั้นวิ่งไปมาระหว่างปลายสองข้างซ้ายขวา ไม่เคยพอดีซักทีและผมเชื่อว่าคงไม่มีวันด้วย มันคงวิ่งไปมาอยู่อย่างนี้ต่อไป เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงความพยายามของ อ. ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่เรียกร้องให้เกิดพรรคสังคมนิยม (พรรคแรงงานหรือพรรคคอมมิวนิสต์ สุดแท้แต่จะเรียก) ผมเข้าใจว่า อ. ใจ ไม่ได้โหยหาการกลับมาของคอมมิวนิสต์แน่ๆ แต่ต้องการถ่วงดุลระบบที่เอียงกะเท่เร่อยู่นี้ เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีพรรคการเมืองของมวลชน มีแต่พรรคกุฎมพีแล้วก็พรรคนายทุนมาโดยตลอด นี่เป็นเสียงของความพยายามหนึ่งที่เรียกร้องให้เกิดจุดดุลยภาพระหว่าง "ความเท่าเทียม" - "ประสิทธิภาพ" ให้เกิดขึ้นซักครั้ง
คอมมิวนิสต์นั้น (ตามทฤษฎ๊) จะเบ่งบานได้นั้นต้องลบทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ก่อนหน้าทิ้งทั้งหมด ทั้ง ค่านิยม ความทรงจำ เพราะมันคือการสร้างระบบความสัมพันธ์ของสังคมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด อย่างที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน เรื่องนี้ก็อย่างที่เรารู้ๆ ว่ามันไม่ได้ผล ผมเลยออกจะสงสัยอยู่ว่าการเกิดขึ้นของพรรคสังคมนิยมมันจะเกิดอย่างไร เพราะมันจะต้องเกิดขึ้นบนโครงสร้างของทุนนิยม ซึ่งผมไม่ค่อยเชื่อว่าถึงมันจะเกิดขึ้นมาได้จริง ท้ายสุดแล้วมันจะไม่กลายพันธ์ไปเป็นอย่างอื่น เพราะเบื้องหลังประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคมนั้นย่อมมีส่วนทำปฏิกิริยาต่อการก่อรูปของระบบใหม่ที่ใส่เข้าไป เรามีบทเรียนแล้วจาก คอมมิวนิสต์ของสตาลินที่นับว่าห่างไกลอยู่โขจากอุดมการณ์ของมาร์กซ์
อุดมการณ์นั้นฟังดูดีเสมอ แต่โดยส่วนตัวผมว่าวิธีนั้นน่าฟังกว่า ผมเห็นด้วยกับ อ. ใจ ว่าเราควรมี Milestone ทางสังคมที่พึงปรารถนาและการคิดถึงอะไรที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นั่นย่อมประเสริฐแน่นอน แต่ผมคิดว่าการทำพรรคการเมืองใหม่นามมวลชนนั้นไม่ช่วยอะไร (คือมีก็ดีนะแต่ไม่พอ) เพราะมันต้องใช้ทั้งทุนและก็ยังเป็นระบบตัวแทนอยู่ ถ้าคิดถึงหนังเรื่อง The Metrix แล้วอาจจะช่วยทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่ามนุษย์ยากจะเอาชนะจักรกลได้เพราะต้องเล่นเกมส์บนกติกาของเขา ต้องรอ The One มาปลดปล่อย (ในโลกแห่งความจริงจะพบว่าหมอนี่มันก็เป็นพวกเดียวกับหุ่นยนต์แหละ อิอิ)
ผมชอบแนวคิดการเมืองนอกรัฐมากกว่า เพราะมันสร้างพื้นที่ใหม่นอกอำนาจรัฐและพรรคการเมือง ผมไม่คิดว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องกระดานหมากฮอสที่เรามีพื้นที่จำกัดและการได้มาของพื้นที่ของเราหมายถึงการลดลงของพื้นที่รัฐ แต่ถ้าเราขยายพื้นที่กระดานได้มากขึ้น เราก็จะพบว่าบางทีรัฐนั้นเหลือพื้นที่น้อยกว่าเราหรืออาจเปลี่ยนกติกาอะไรบางอย่างได้ก็เป็นได้
ผมว่าถ้าคุณได้โปรแกรมในอุดมคติมาซักอัน แล้วมันรันไม่ได้บน windows แล้วละก็
คุณชอบอย่างไหนกว่ากัน ระหว่างที่จะต้องแก้โปรแกรมให้ใช้ได้บน windows หรือเขียน OS ใหม่ให้โปรแกรมใช้งานได้ดี